อัตราดอกเบี้ย 0.25% จะทำให้คนไทยก่อหนี้มากยิ่งขึ้นจริงหรือ…?

7 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงมติปรับลด อัตราดอกเบี้ย 0.25% ลงมาอยู่ที่ 1.50% ทำให้แนวโน้มต้นทุนการเงินลดลง ซึ่งอาจจะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นการก่อหนี้มากยิ่งขึ้น

 

เพราะอะไร คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น นานขึ้น มากขึ้น  BY สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมวางแนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อย (อย่างเหมาะสม) เพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี” ปรับตัวสูงขึ้นจาก 53.5% เมื่อต้นปี 2552 มาเป็น 78.7% ณ สิ้นไตรมาส 1/2562 ถือว่าสูงอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคมูลค่ากว่า 13 ล้านล้านบาท ที่สำคัญผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่อ้างอิงข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ระบุว่า “คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น-มากขึ้น-นานขึ้น”

เป็นหนี้เร็วขึ้น-เริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และ 1 ใน 5 หรือ 20% ของผู้กู้ช่วงอายุ 29 ปีเป็นหนี้เสีย

เป็นหนี้มากขึ้น-ปริมาณหนี้ต่อหัวสูงขึ้นจาก 377,109 บาท เป็น 552,499 บาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

เป็นหนี้นานขึ้น-ภาระหนี้ไม่ได้ลดลงแม้จะเข้าสู่วัยเกษียณ และ 4 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจากผู้กู้รายเดิม ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการมีหนี้หลายประเภทโดยเฉพาะสินเชื่อบุคคล

และแบงก์ชาติมองว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการ “ก่อหนี้เกินตัว” เพราะสถาบันการเงินมุ่งให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) ของตัวเอง เช่น ปล่อยกู้จากมูลค่าหลักประกันโดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของผู้กู้ที่อาจมีเงินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ขณะที่สมรภูมิการแข่งขันรุนแรงในตลาดสินเชื่อรายย่อย ทำให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อหย่อนลง ทั้งมีแคมเปญกระตุ้นมากมาย เช่น การเสนอวงเงินสูงแบบดาวน์ต่ำ หรือไม่ต้องมีเงินดาวน์ ทั้งขยายเวลาผ่อนชำระยาว ทำให้มีส่วนกระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างไม่เหมาะสมด้วย สถาบันการเงินบางแห่งยอมปล่อยกู้ แม้ผู้กู้ที่มีภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio : DSR) ระดับสูง โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีหลักประกันอย่างรถแลกเงิน บ้านแลกเงิน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยภาระหนี้ต่อรายได้ถึง 50-60% สูงกว่าสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทอื่น

 

สาเหตุที่แบงก์ชาติ ต้องคุม สินเชื่อ

ตอนนี้จึงมาถึงจุดที่ “แบงก์ชาติ” ต้องการควบคุมพฤติกรรมการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินทุกประเภทที่เป็น “ตัวการ” หนึ่งทำให้เกิดปัญหา “หนี้เกินตัว” โดยกำหนดแนวนโยบายให้สถาบันการเงินคำนึงถึงการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ซึ่ง ธปท.ได้ระบุตัวอย่าง “พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม” ของสถาบันการเงิน

อาทิ กำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนพนักงาน โดยให้น้ำหนักกับเป้าการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยมากเกินไป จนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถทางการเงินของลูกค้า การออกแบบสินเชื่อให้ผ่อนชำระช่วงแรก เฉพาะดอกเบี้ยหรือเงินต้นน้อยมาก หรือให้ผ่อนงวดสุดท้ายเป็นเงินก้อนใหญ่ (บอลลูนเพย์เมนต์) ให้กับลูกค้าที่อาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้, การรีไฟแนนซ์ให้แก่ลูกค้าโดยให้วงเงินใหม่เพิ่มสูงเกินจำเป็น, เสนอขายบัตรเครดิตและให้สินเชื่อบุคคลพ่วง, ส่งเสริมให้ลูกค้าเบิกเงินก้อนแรกทันทีหลังได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อบุคคล หรือการชักจูงให้ลูกค้าเปลี่ยนวงเงินบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้เป็นสินเชื่อบุคคล ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างที่แบงก์ชาติบอกว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในฐานะผู้บริโภคก็ต้องบอกว่าเป็นพฤติกรรมที่สถาบันการเงินทำกันอย่างแพร่หลาย ด้วยคำนึงถึงเรื่องผลตอบแทนขององค์กรเป็นหลัก งานนี้ก็ถือว่าเป็นปฏิบัติการเชิงรุกของแบงก์ชาติ ซึ่งหากสามารถควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้ของสถาบันการเงินได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้ลดแรงกระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวในยุคบริโภคนิยมได้ระดับหนึ่ง

โดยระหว่าง 2-30 ส.ค.นี้ ธปท.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น “แนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม” และเตรียมบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป

 

ที่มา : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์  prachachat

อัตราดอกเบี้ยกู้บ้านออมสินเอาด้วยเตรียมลด อัตราดอกเบี้ยกู้บ้าน 1.50% ต่อปี

 

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก