น่าติดตามไม่น้อย บทสรุปสุดท้ายของโปรเจ็กต์ก่อสร้าง อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริเวณเกียกกาย ที่ใช้เงินก่อสร้างไปร่วม 12,000 ล้านบาท จะสามารถเปิดใช้งานได้พอดีกับงานก่อสร้างที่จะทยอยเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2561 หรือไม่
อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ งบบานปลาย
หลัง “ครม.-คณะรัฐมนตรี” เบรกหัวทิ่มงบประมาณ 8,135 ล้านบาท จะนำมาใช้ติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและส่วนที่เกี่ยวข้องในโครงการอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบเครื่องเสียงในห้องประชุมที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยประมาณการไว้ 3,586 ล้านบาท ล่าสุดรัฐสภาอยู่ระหว่างพิจารณาปรับลดวงเงิน โดยมีรายการที่ตัดออกแน่ ๆ คือ นาฬิกาและไมโครโฟน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงราคาที่แพงหูฉี่
ในเมื่องบฯตกแต่งภายใน ระบบสาธารณูปโภค และระบบเทคโนโลยียังไม่มาตามนัด ก็มีความเป็นไปได้สูงที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จะเปิดใช้งานไม่ได้ แม้ว่า “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” จะเร่งมืองานก่อสร้างให้เสร็จตามสัญญาก็ตาม
นายพีระ นาควิมล ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้างานก่อสร้างโดยรวม ณ มิ.ย. 2561 อยู่ที่ 48.03% ภายในเดือน ธ.ค.นี้งานก่อสร้างอาคารในส่วนของห้องประชุมวุฒิสภา ห้องกรรมาธิการ และที่ทำงานของบุคลากรที่จะย้ายจากรัฐสภาเดิมมายังอาคารใหม่ จะแล้วเสร็จ ส่วนห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร และพื้นที่เชื่อมต่อบางส่วนจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2562 จากนั้นภายในเดือน ธ.ค.จะเก็บรายละเอียดทั้งโครงการให้แล้วเสร็จทั้งโครงการ
“งานก่อสร้างอาคารเสร็จตามสัญญาแน่นอน แต่การตกแต่งภายในหรือติดตั้งระบบต่าง ๆ นั้นใช้งบประมาณคนละส่วนกัน ขณะนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณ งานอาคารที่จะเสร็จ ธ.ค.นี้บางส่วน สามารถย้ายคนไปอยู่ได้ แต่ระบบต่าง ๆ ยังไม่พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้ เพราะต้องรองบประมาณอีกจำนวนหนึ่งมาดำเนินการ”
นายพีระกล่าวอีกว่า จากความล่าช้าของโครงการ ทำให้บริษัทต้องขอขยายเวลาก่อสร้างไป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกิดขึ้น ล่าสุดยื่นเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐสภาแล้ว เป็นวงเงิน 1,673 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทต้องตั้งสำรองเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท สำหรับการประสบปัญหาขาดทุนจากการก่อสร้างโครงการนี้
การก่อสร้างที่ล่าช้า เป็นเพราะการบริหารงานของรัฐที่ล่าช้า ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ได้ จึงทำให้โครงการเริ่มงานไม่ทันตามกำหนด จนต้องขยายระเวลาก่อสร้างจาก 900 วัน เป็น 2,400 วัน หรือใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี 5 เดือน
นับเป็นเมกะโปรเจ็กต์โครงการที่ 2 ของ “ซิโน-ไทยฯ ที่กลายเป็นทุกขลาภ” ต่อจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่ขาดทุนไปร่วม 1,000 ล้านบาท
ที่มา prachachat.net