ช่วงล็อคดาวน์ในระยะเวลา 2-4 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า New normal ขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ดูเหมือนว่าจะสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ความปกติใหม่กันได้แล้ว โดยสำหรับในแง่ของพฤติกรรมการเลือกซื้อบ้านเอง ก็ได้มีรายงานการวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมากขึ้นเช่นกัน เช่นประเด็นที่พูดคุยกันในวงกว้างบน Social Media ถึงการเริ่มคิดหนักว่าจะซื้อบ้านแบบไหนดีมากกว่าคอนโดมิเนียม เนื่องจากให้ความสำคัญของพื้นที่และการใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น โดยบ้านในยุค New normal นี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่พักผ่อนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่สำหรับการทำกิจกรรมทุกรูปแบบในชีวิตอีกด้วย
Gensler บริษัทที่ปรึกษาและออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลก ซึ่งได้มีสาขามากกว่า 50 สาขาทั่ว 11 ทวีปในโลก ได้เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกซื้อบ้านแบบ New normal ซึ่งพบว่ามีรูปแบบการให้ความสำคัญกับนิยามคำว่า ‘บ้าน’ เปลี่ยนไปจากในยุคก่อนเกิดวิกฤตโควิดอย่างชัดเจน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการเลือกซื้อบ้านนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากพฤติกรรมการทำงานและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป
- พฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป
ผลวิจัยของ Gensler สรุปว่าพฤติกรรมการทำงานที่เริ่มมีการทำงานแบบเคลื่อนที่ (Remote work) ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อบ้าน เนื่องจากรูปแบบงานเริ่มปรับให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หลายบริษัทมีการสร้างระบบฐานข้อมูลกลางที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพื้นที่อาคารสำนักงาน โดยคาดว่าบริษัทขนาดเล็กหลายแห่ง จะมีขนาดที่ทำงานที่เล็กลง โดยจะเน้นให้พนักงานมีความคล่องตัว สอดคล้องกับพฤติกรรมของวัยทำงานรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น ทำให้บริษัทหลายแห่งปรับวัฒนธรรมองค์กรให้รับกับความต้องการของแรงงาน เพื่อแย่งชิงทรัพยากรแรงานที่มีคุณภาพ
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป
ผลวิจัยของ Gensler ชี้ว่าแม้ปัจจุบันพื้นที่กิจกรรมในเมือง เช่น ศูนย์การค้า จะยังเป็นแหล่งรวมตัวของคน แต่ปริมาณความหนาแน่นกลับลดน้อยลง ผู้คนเลือกใช้ชีวิตอยู่บ้านและใช้บริการ Delivery ในการอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่ถูกใช้อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้พื้นที่ที่คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตกลับเป็นภายในบ้านมากกว่าข้างนอก
เจาะพฤติกรรมการเลือกซื้อบ้านที่เปลี่ยนไปในมุมมองของ Gensler
Gensler เป็นบริษัทที่ปรึกษาและออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลก ทำให้มีคลังข้อมูลในการวิจัยมหาศาล โดยผลวิจัยสรุปว่าพฤติกรรมการเลือกซื้อบ้านของคนมีมุมมองที่เปลี่ยนไปในมุมมองของด้านฟังก์ชั่นและพื้นที่การอยู่อาศัยภายในบ้าน เนื่องจากมีการให้คุณค่ามากขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าใช้เวลาในการอยู่บ้านนานขึ้น ดังนั้นคำถามที่ว่าซื้อบ้านแบบไหนดี จึงกลายเป็นเรื่องของการออกแบบบ้านที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในแบบ New normal มากกว่า โดยฟังก์ชั่นที่ Gensler มองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อบ้านของผู้บริโภคมีดังนี้
- การออกแบบพื้นที่ครัว – เห็นได้ชัดจากช่วงการกักตัวที่ผ่านมาว่าการทำอาหารกลายเป็นพฤติกรรมที่เป็นปรากฎการณ์ New normal แบบชัดเจน พื้นที่ครัวจึงกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะคนไทยที่มีการทำอาหารที่มีกลิ่นฉุน ดังนั้นพฤติกรรมการเลือกซื้อบ้านแบบใหม่จึงเริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่ครัวที่สามารถทำอาหารได้จริงและสะดวก
- การออกแบบพื้นที่เก็บของ – เนื่องจากบ้านเริ่มถูกมองว่าเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย แต่เป็นอีกหนึ่งสถานที่ของการทำกิจกรรมในชีวิต รวมไปถึงการอยู่ร่วมกันของคนหลายคน ซึ่งปัญหาของบ้านในปัจจุบันคือมีพื้นที่เก็บของที่ไม่เพียงพอต่อสมาชิกภายในบ้าน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สมาชิกในบ้านต้องทำกิจกรรมหลายรูปแบบ
- การออกแบบพื้นที่ภายในบ้านให้เป็นสัดส่วนอย่างยืดหยุ่น – ช่วงการล็อคดาวน์ บ้านกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนในครอบครัวต่างต้องใช้พื้นที่ร่วมกันในการทำกิจกรรมของตัวเอง เช่น การทำงาน การเรียนออนไลน์ การประชุม การปลูกต้นไม้ เป็นต้น ทำให้ความต้องการในการใช้งานมีหลากหลาย ในขณะที่พื้นที่ในบ้านไม่ได้มีความยืดหยุ่นมากพอ ดังนั้นพฤติกรรมการเลือกซื้อบ้านจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่สามารถปรับการใช้งานร่วมกันได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น
การเกิดขึ้นของโควิดเป็นปรากฎการณ์การแร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในการอยู่อาศัย บ้านจึงกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนใช้เวลาอยู่มากที่สุด ดังนั้นหากจะถามว่าควรเลือกซื้อบ้านแบบไหนดี ก็คงต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเรามีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไร และพื้นที่ภายในบ้านนั้นสามารถตอบโจทย์เราได้หรือไม่
ที่มา:
– https://www.livingetc.com/whats-news/how-is-covid-19-shaping-design-trends-233225
– https://bobbyberk.com/life-after-covid-19-how-interior-design-will-change/
– https://www.gensler.com/research-insight/blog