DotProperty.co.th

เจาะลึกโครงการบ้านประชารัฐ

บ้านประชารัฐ,สินเชื่อบ้าน,เงินกู้

สวัสดีค่ะทุกท่านที่กำลังสนใจกำลังจะซื้อบ้านหรือจะหาบ้านอยู่แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการเงินอยู่บ้างทำให้อาจจะทำการซื้อบ้านหรือ กู้ซื้อบ้าน ลำบากอาจถอดใจพับโครงการซื้อบ้านกันไปบ้างแล้ว แต่ช้าก่อนค่ะเพราะว่าต่อนี้รัฐเรานำโดยท่านนายก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอนโยบายโครงการบ้านประชารัฐ ต้องบอกเลยว่างานนี้ประโยชน์ตกอยู่กับผู้มีรายได้น้อยแบบเต็ม ๆค่ะ โดยโครงการบ้านประชารัฐ คือ นโยบายภาคอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลออกมาเพื่อผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่มีบ้าน เพราะสามารถกู้ซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 1,500,000 บาท เพื่อได้เป็นเจ้าของบ้านตัวเอง อีกทั้งเงื่อนไขการขอสินเชื่อก็ผ่อนปรนสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย  เพราะไม่กำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ อีกทั้งสามารถกู้เงินได้มากขึ้นในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง นอกจากนี้ยังลดแลกแจกแถมอีกเพียบ ไม่แปลกที่จะมีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจติดต่อสอบถามข้อมูลจากธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่เป็นผู้ปล่อย  โดยสินเชื่อในวงเงินรวมถึง 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.สินเชื่อพัฒนาโครงการ(Pre Finance) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปล่อยกู้เพื่อผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นำไปจัดทำโครงการให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการ อัตราดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-2 เท่ากับ 4 % ต่อปี ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า MLR – 1% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.65% ต่อปี)

2.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) สำหรับประชาชนทั่วไป วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนแยกเป็น (1.) วงเงินกู้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่เกิน 700,000 บาท หรือกู้เพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติมวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 1 ปีแรก ปีที่ 2 – 3 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปีที่ 4-6 อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และปีที่ 7 จนถึงตลอดอายุสัญญา อัตราดอกเบี้ย MRR–0.75% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 6.75% ต่อปี)

(2.) วงเงินกู้เพื่อซื้อหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 700,000 บาทแต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-3 เท่ากับ 3% ต่อปี ปีที่ 4–6 อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และปีที่ 7 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR–1% ต่อปี และกรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ย MRR–0.75% ต่อปี โดยผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน ยกเว้นกรณีซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัย ซึ่งมูลค่ารวมของที่ดินและที่อยู่อาศัย

ที่จะขอกู้เพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติมต้องไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

“วัตถุประสงค์ให้กู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ซ่อมแซม/ต่อเติม และซื้อทรัพย์ NPA ซึ่ง ธอส.มีทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 2,300 รายการ และเพื่อให้ลูกค้าประชาชนมีโอกาสได้รับวงเงินกู้ที่สูงขึ้นเพียงพอต่อการซื้อบ้านในฝันของตนเอง

ธอส.จึงผ่อนปรนสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio หรือ DSR) เพิ่มเป็นสูงสุดไม่เกิน 50% ของรายได้สุทธิต่อเดือนกรณีลูกค้ารายย่อย กรณีลูกค้าสวัสดิการที่ทำข้อตกลงหักเงินเดือนกับธนาคารจะใช้ DSR

ที่ 80% ของรายได้สุทธิ ผ่อนชำระนานสูงสุด 30 ปี ซึ่งจะทำให้วงเงินกู้ของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้น และอัตรา ผ่อนชำระรายเดือนลดลง อาทิ กรณีวงกู้ไม่เกิน 700,000 บาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 3 ปีแรกเพียง 3,000 บาท/เดือน

วงเงินกู้ 1.5 ล้านบาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 7,200 บาท/เดือน กรณีกู้ซ่อมแซม / ต่อเติม วงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 2,100 บาท/เดือน ”นางไลวรรณ กล่าว

ลูกค้าที่สนใจสามารถติดต่อยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 22 มีนาคม 2559 หรือภายใต้กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาทั่วประเทศ

หรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

โดย Dot Property Magazine เล่มหน้าเราจะพาไปดู เงื่อนไขการขอสินเชื่อโครงการ บ้านประชารัฐ ว่าอัตราดอกเบี้ยโครงการบ้านประชารัฐจะแบ่งออกเป็นอย่างไรบ้างและเรามาลองมาคำนวณดูกันว่าหากเราขอสินเชื่อในวงเงิน 300,000-700,000 บาท

ในระยะเวลา 10-30 ปี จะต้องผ่อนจ่ายเดือนละเท่าไร พบกันใหม่เล่มหน้าค่ะ