DotProperty.co.th

เจาะลึก “บางใหญ่” สายสีม่วง

ถ้าจะให้พูดถึง “ความแรง” ของรถไฟฟ้า ในตอนนี้ รถไฟฟ้าสายสีม่วง น่าจะมาแรงแซงคิวได้ที่สุดหล่ะค่ะ เพราะว่าในวันที่ 5 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ ก็จะเตรียมเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการกัน เป็นการฉลองวันพ่อแห่งชาติและเป็นของขวัญรับปีใหม่ให้กับประชาชนคนไทย ตามคำกล่าวของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงคมนาคม และหลังจากการทดสอบแล้ว ก็จะเปิดให้ใช้กันอย่างเต็มรูปแบบในเดือนมีนาคม 2559

สำหรับระยะเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้า ช่วง “บางใหญ่-บางซื่อ” นั้นมีความยาวทั้งสิ้น 23 กิโลเมตร และมีทั้งหมด 16 สถานีด้วยกัน ได้แก่

1. สถานีคลองบางไผ่
2. สถานีตลาดบางใหญ่
3. สถานีสามแยกบางใหญ่
4. สถานีบางพลู
5. สถานีบางรักใหญ่
6. สถานีท่าอิฐ
7. สถานีไทรม้า
8. สถานีสะพานพระนั่งเกล้า9. สถานีแยกนนทบุรี 1
10. สถานีศรีพรสวรรค์
11. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
12. สถานีกระทรวงสาธารณสุข
13. สถานีแยกติวานนท์
14. สถานีวงศ์สว่าง
15. สถานีบางซ่อน
16. สถานีเตาปูน

สำหรับพื้นที่ใช้สอยนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชั้น ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. Ground Level(ชั้นล่าง)

เป็นทางขึ้น-ลง อยู่ด้านในทางเท้าทั้ง 2 ฝั่งถนน มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการพักคอย สามารถกันแดดกันฝน และมีระบบป้องกันน้ำท่วม ผู้โดยสารสามารถต่อเชื่อมกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ระดับผิวถนนได้ มีบันไดเลื่อน มีทางลาด และลิฟต์โดยสารสำหรับผู้ที่นั่งรถเข็น และผู้พิการไว้บริการ ตั้งแต่ชั้น Ground Level จนถึง Platform(ชานชาลา) เพื่ออำนวยความสะดวกในทุกสถานี

2. Concourse Level(ชั้น 2)

ชั้นบริการผู้โดยสาร มีลักษณะแบบเปิดโล่งและสามารถใช้เป็นสะพานลอยข้ามถนนได้ ชั้นนี้จะประกอบด้วย ตู้ขายตั๋วอัตโนมัติ เครื่องตรวจตั๋วอัตโนมัติ ตลอดจนร้านสะดวกซื้อต่างๆ

3. Platform หรือ ชานชาลา (ชั้น 3)

เป็นชั้นสำหรับรถไฟฟ้าจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ที่ชั้นนี้มีระบบประตูกั้นชานชาลาแบบครึ่งตัว(Half-Height Platform Screen) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารตกลงไปในราง นอกจากนี้ชานชาลาของรถไฟฟ้าสายสีม่วงยังออกแบบให้รองรับขบวนรถไฟได้สูงสุด 6 ตู้โดยสาร และตรงบริเวณพื้นชานชาลา จะมีเครื่องหมายแสดงตำแหน่งประตูรถไฟฟ้าเมื่อเข้าจอด อีกทั้งมีบันไดขึ้นลง และบันไดสำหรับหนีภัยในกรณีฉุกเฉิน

รายละเอียดทั้งหมด ก็พอจะทำให้เราเห็นภาพได้ว่า ความสะดวกสบายข้างหน้าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่การมาของรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น จะทำให้การคมนาคมของไทยสะดวกและก้าวหน้าไปอีกขั้นหรือไม่ ก็คงต้องรอดูกันต่อไป เพียงแต่ในใจลึกๆก็ยังคิดอยู่เสมอว่าการวางแผนและเตรียมความพร้อมของระบบการจราจรตั้งแต่ต้นก็น่าจะดีกว่า การแก้ปัญญาการจราจรที่ปลายเหตุ แต่เมื่อมาถึงตอนนี้แล้ว ก็คงจะต้องรอดูความเปลี่ยนแปลงกันต่อไป และคาดหวังให้สิ่งดีๆเกิดขึ้นค่ะ

ที่มา : mrta-purpleline