DotProperty.co.th

เจ้าสัวเจริญ จัดหนักยกทัพธุรกิจอสังหาฯครั้งใหญ่ พร้อมขายหุ้นบริษัทให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของ

เจ้าสัวเจริญ จัดทัพธุรกิจอสังหาฯครั้งใหญ่ กว้านไพร์มพร็อพเพอร์ตี้ เข้าพอร์ต “แอสเสท เวิรด์ คอร์ป” เปิดเกมรุก “โรงแรม-ค้าปลีก” ยื่นไฟลิ่ง เสนอขายหุ้นไอพีโอ ไม่เกิน 6,957 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 22.47% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ระดมทุน รุกธุรกิจโรงแรมเพิ่ม 12 แห่ง

 

เจ้าสัวเจริญเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชน

ศักยภาพประเทศไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตสูงอย่าง ต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งกลุ่มธุรกิจโรงแรม บริการ และค้าปลีก ทำให้ “แอสเสท เวิรด์ คอร์ป” หรือ AWC  ภายใต้ เครือทีซีซีกรุ๊ป (TCC Group) ธุรกิจพัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เขย่าพอร์ต จัดทัพครั้งใหญ่ พร้อมเตรียมแผนเข้า ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรับแผนขยายกิจการ ซึ่งตามแผนจะเข้าตลาดฯได้ภายในปีนี้

โดยเช้าวานนี้ (11 มิ.ย.) AWC ได้ยื่นไฟลิ่งเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO)  ซึ่งจะเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 6,957 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 22.47% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ออกและจำหน่ายแล้วของบริษัท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท/หุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ เพื่อรองรับหากมีผู้จองซื้อหุ้นมากกว่าหุ้นที่เสนอขาย หรือใช้เป็นหุ้น Green Shoes วัตถุประสงค์ของการเสนอขายIPO เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในการเข้าซื้อกิจการที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินกลุ่ม 3 และใช้ในการลงทุน พัฒนา และ/หรือ ปรับปรุงทรัพย์สินของบริษัท และ/หรือ บริษัทย่อย โดยบริษัทมีแผนลงทุนธุรกิจโรงแรมเพิ่มอีก 12 โรงแรม ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการลงทุน พร้อมชำระคืนเงินกู้ยืมธนาคาร และ/หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัทและ/หรือ บริษัทย่อย และใช้เป็นกระแสเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ

 

จัดหนักยกทัพธุรกิจอสังหาฯครั้งใหญ่

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนไทยกว่า 38 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางของการทำกิจกรรมสันทนาการ การพักผ่อน และการใช้ชีวิต ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีศักยภาพในการเติบโตสูงเป็นโอกาสสำคัญทางธุรกิจ “เราได้รวบทรัพย์สินไพร์มพร็อพเพอร์ตี้ของธุรกิจหลักทั้งโรงแรมและค้าปลีกเข้ามาอยู่ภายใต้ AWC ซึ่งตั้งเป็นโฮลดิ้งคอมปะนีทำหน้าที่บริหารและพัฒนาอสังหาฯ ที่จะโฟกัสไลฟ์สไตล์ครบวงจรมากขึ้น”

ทั้งนี้ AWC มุ่งขับเคลื่อนการลงทุนธุรกิจอสังหาฯ ในทำเลที่มีศักยภาพ โดยใช้จุดแข็งในการต่อยอดตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร ซึ่ง AWC มีอสังหาฯ ที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่ AWC เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ (Freehold)และมีความหลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจ และการผลักดันธุรกิจเข้าตลาดฯ ในครั้งนี้ยังเป็นการสร้างมาตรฐานและความยั่งยืน “วันนี้เรากำลังปรับระบบเข้าสู่มาตรฐานสากล เมื่อมีการเซ็ตทุกอย่างเป็นระบบ จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและผู้บริหารที่มีความเข้มข้นทางด้านธรรมาภิบาล  ต่างจากระบบครอบครัวแบบเดิมๆ”

 

ลุย 2 กลุ่มหลัก”โรงแรม-ค้าปลีก”

AWC วางโครงสร้าง 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality)  ซึ่ง AWC ถือเป็นเจ้าของโรงแรมรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ปัจจุบันมีเครือข่ายพันธมิตรที่เป็นกลุ่มผู้บริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ชั้นนำระดับสากล ได้แก่ แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (Marriott International Inc.) รวมถึงกลุ่มสตาร์วู้ด (Starwood) ฮิลตัน อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุ๊ป มีเลีย บันยันทรี และโอกุระ

เครือข่ายพันธมิตรดังกล่าวทำให้ AWC สามารถออกแบบและพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เสริมความแข็งแกร่งของเครือข่ายระดับโลกด้านการขายและการตลาดซึ่งมีสมาชิกประจำมากกว่า 300 ล้านราย ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการของAWC มีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด ด้วยจำนวนห้องพักของโรงแรมที่เปิดดำเนินการ ณ วันที่ 31 มี.ค. อยู่ที่ 3,432 ห้อง

 

ปั้นค้าปลีกหลากโมเดล

อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจหลัก คือ อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail and Commercial Building) ซึ่งครอบคลุมโครงการในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail and Wholesale) ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ ชอปปิงมอลล์ คอมมูนิตี้ มาร์เก็ต และอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าส่ง อาทิ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เกตเวย์ แอท บางซื่อ, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และตะวันนา บางกะปิ

อาคารสำนักงาน (Office) โครงการที่โดดเด่น เช่น อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ และอาคารแอทธินีทาวเวอร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลทางธุรกิจที่มีศักยภาพในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ

“อสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ของ AWC ตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ รองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ยามค่ำคืนด้วยแนวคิดพิพิธภัณฑ์มีชีวิตและตลาดแห่งเทศกาลรื่นเริง เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านไล์ฟสไตล์ทั้งชอปปิงและร้านอาหารยอดนิยมของกรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา”

นอกจากนี้ ยังมีคอมมูนิตี้ชอปปิงมอลล์ภายใต้แบรนด์เกตเวย์ พันธุ์ทิพย์ และตะวันนา ซึ่งแต่ละแบรนด์มีการกำหนดคอนเซปต์และรูปแบบเฉพาะตัวที่ชัดเจนเพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน

 

ลุยบิ๊กโปรเจคดันรายได้

โดยรวม AWC มีโครงการที่เปิดดำเนินงานแล้ว 8 แห่ง อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 2 แห่ง ประกอบด้วยโครงการคอมมูนิตี้มาร์เก็ต บางกะปิ และโครงการเออีซี เทรด เซ็นเตอร์ ซึ่งโครงการทั้ง10แห่งมีพื้นที่เช่ารวมกว่า 3.4 แสนตร.ม.

ทั้งมีโครงการในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯเพื่อการประกอบกิจการการค้าปลีก (Retail) อีก 2 แห่ง ประกอบด้วยโครงการใหม่ 1 แห่ง และส่วนต่อขยายของโครงการเดิม 1 แห่ง ที่บริษัทได้ทำบันทึกข้อตกลงปี 2562 ที่จะเข้าลงทุนซึ่งบริษัทจะเข้าทำสัญญาต่อไป

AWC ยังเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานอีก 4 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในย่านใจกลางธุรกิจของกรุงเทพฯ ได้แก่ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ กว่า 3 แสนตร.ม. อาคาร 208 วายเลสโร้ด อาคารแอทธินี ทาวเวอร์ และอาคาร อินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์

ในปี 2561 AWC มีรายได้จากธุรกิจหลัก 12,415 ล้านบาท มาจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการ 60% จากกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ 40%

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ตลาดที่อยู่อาศัย กับดีมานด์เทียมที่หายไป !!

 

 

ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 คืออะไรทำไมอนาคตอาจกลายเป็นที่ดินทองคำ

 

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก