วันที่เราต้องอยู่บ้านแบบนี้การซื้ออาหารปรุงสุกมาตุนไว้อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีมากนัก หลายคนหันมาซื้อวัตถุดิบอาหารสดเข้ามาแทน เพียงแต่วัตถุดิบอาหารสดเหล่านี้แม้จะอยู่ได้นานกว่าอาหารปรุงสุกแต่กลับมีเรื่องราวละเอียดอ่อนที่ต้องทำความเข้าใจอยู่มากมาย
วันนี้ดอทจึงนำเคล็ดลับการเลือกซื้อและจัดเก็บวัตถุดิบอาหารสดมาบอกทุกคนครับ โดยดอทจะแบ่งวัตถุดิบอาหารออกเป็น 4 ประเภทใหญ่เพื่อให้ง่ายต่อมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นนะครับ
เนื้อสัตว์
เราเริ่มกันที่แหล่งโปรตีนแหล่งโปรดของใครหลายคนที่อาจจะปวดหัวกับการเลือกซื้อหรือจัดเก็บกันอยู่พอสมควร ซึ่งเรามีวิธีจัดการอย่างง่ายๆ จำไม่ยากและยังเป็นขั้นต้นที่สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกซื้อและจัดเก็บเนื้อสัตว์ได้ทุกประเภท
วิธีการเลือกซื้อ
สำหรับเนื้อสัตว์นั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องพิจารณาให้ดีคือ สี กลิ่น สัมผัส
สี – ต้องมีสีที่ดูสดไม่มีเขียวคล้ำ อย่างเช่นเนื้อหมูสีชมพูมันสีขาว เนื้อวัวสีแดงมันสีเหลือง เป็นต้น
กลิ่น – ต้องไม่เหม็น
สัมผัส – ต้องแน่น ไม่เละ ไม่เป็นเมือกและไม่มีสิ่งแปลกปลอม มองดูแล้วสภาพดี ถ้าเป็นปลาต้องตาใส
วิธีการเก็บรักษา
ถ้าหากซื้อมาในปริมาณมากต้องการเก็บไว้กินให้นานที่สุดควรนำเนื้อไปล้างน้ำก่อน จากนั้นสะเด็ดหรือซับน้ำออกให้แห้ง ค่อยหั่นเป็นชิ้นใหญ่ที่พอดีกับภาชนะแล้วนำเข้าช่องแช่แข็งไปเลย แนะนำว่าให้แบ่งเก็บแบบกะพอดี 1 มื้อเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานและไม่ทำให้ส่วนที่เหลือเสียได้ง่ายหากนำมาละลายแล้วเอากลับเข้าไปใหม่
สามารถเก็บได้เป็นเวลานานเท่าไหร่?
เนื้อชิ้นแช่แข็งหากเก็บอย่างดีก็สามารถเก็บได้นานถึง 4-12 เดือน ช่องแช่เย็นธรรมดา 3-5 วัน แต่หากบดหรือหั่นเป็นชิ้นแล้วระยะเวลาจะสั้นลงโดยเนื้อสัตว์บดหรือหั่นแช่แข็งอยู่ที่ 3-4 เดือน ช่องแช่เย็นธรรมดา 1-2 วัน ในกรณีที่ช่องแช่เย็นมีอุณหภูมิอยู่ที่ 0-5 องศาและช่องแช่แข็ง อยู่ที่ -15 องศาเซลเซียส
ไข่
วัตถุดิบขาดไม่ได้สำหรับทุกบ้านจริงๆ ดอทจึงแยกออกมาให้ชัดเจนไปเลยเพราะนับเป็นวัตถุดิบที่ทำง่าย เก็บได้นาน เรามาดูกันดีกว่าว่ารายละเอียดเรื่องไข่จะเป็นอย่างไร
วิธีการเลือกซื้อ
ไข่จะมีการแยกขายตามเบอร์ แบ่งตามขนาดโดยมีเบอร์ 0-5 เบอร์ 0 จะใบใหญ่ที่สุด เวลาเลือกซื้อให้เราเขย่าดูเล็กน้อย เบาๆ อย่าให้มีความรู้สึกว่าด้านในมีแรงกระแทกเบาๆ ดูคลอนๆ
วิธีการเก็บรักษา
การเก็บไข่ให้วางเรียงโดยนำด้านที่แหลมทิ่มลงด้านล่าง แช่ในช่องธรรมดาก็พอนะครับ
สามารถเก็บได้เป็นเวลานานเท่าไหร่?
ไข่ที่แช่เย็นสามารถเก็บได้นานถึง 3-5 สัปดาห์ แต่หากปรุงสุกแล้วจะเก็บได้เพียง 4-5 วันเท่านั้นครับ นานกว่านั้นจะเริ่มมีกลิ่นแล้ว
ผัก
แหล่งวิตามินที่ทำให้อาหารอร่อยมากขึ้นชนิดนี้มีความยุ่งยากอยู่ในตัวมากทีเดียว เพราะผักมีอายุอยู่ไม่นานเท่าเนื้อสัตว์หรือไข่ ทั้งยังมีหลากหลายชนิดแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างไม่เหมือนกันอยู่บ้าง แต่ไม่นับว่ายุ่งยากนะครับ ลองดู
วิธีการเลือกซื้อ
คำแนะนำแรกเลยคือให้เราเลือกซื้อผักที่ออกตามฤดูกาลเพราะผักเหล่านี้จะมีการใช้สารเคมีน้อย หรืออาจจะเลือกดูจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้มาเลยจะสามารถลดความยุ่งยากในการเลือกซื้อลงได้ เช่นการซื้อผักปลอดสารพิษหรือผักอินทรีย์ที่ได้รับการรองรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
ยังมีวิธีการเลือกซื้อจากสภาพ เลือกดูที่สดใหม่ไม่เหี่ยวหรือนิ่มจนเกินไป อาจมีร่องรอยของแมลงกัดแทะอยู่บ้างเล็กน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่ยาหรือสารเคมีมากเกินไป
วิธีการเก็บรักษา
ควรนำผักใส่ถุงหรือกล่องเพื่อป้องกันการโดนความเย็นโดยตรงเพราะจะทำให้ผักแห้งและเหี่ยวจนเสียเร็วมากขึ้น หากใส่ถุงพลาสติกแนะนำว่าให้แช่ในช่องผัก แต่หากใส่กล่องเราสามารถใช้กระดาษทิชชู่รองเอาไว้ป้องกันความชื้นโดนผักมากเกินไปเก็บแช่ในช่องธรรมดาได้
หากต้องการล้างเก็บเพื่อความสะอาดต้องทำให้ผักแห้งจากน้ำก่อนค่อยเก็บแช่ตู้เย็นนะครับ ไม่อย่างนั้นผักจะเน่าได้ง่ายมาก
สามารถเก็บได้เป็นเวลานานเท่าไหร่?
ผักเก็บได้ไม่นานครับ เก็บอย่างดีที่สุดอาจจะยืดอายุได้ราว 1-2 สัปดาห์เท่านั้น หากต้องการเก็บให้ได้นานกว่านั้นดอทแนะนำให้เลือกผักที่มีหัวหรือราก เอามาแช่น้ำปลูกอีกครั้งไปเลย แบบนี้จะเป็นการประหยัดไปด้วยในตัว
นี่เป็นการเก็บรักษาวัตถุดิบอาหารสดที่ทำได้ง่ายและไม่ยุ่งยากอย่างคร่าวๆ ของวัตถุดิบแต่ละประเภทหลัก นับเป็นเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพเหมาะสำหรับคนที่ต้องการซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารทานเองที่บ้านให้ได้นานๆ โดยไม่ทำให้รสชาติวัตถุดิบเปลี่ยนไปเหมือนการถนอมอาหารรูปแบบอื่น