DotProperty.co.th

เตือนภัยเทคนิคกลโกงที่ดินโดยไม่รู้ตัว

วันนี้เรามีเคล็ดหรือวิธีกลโกงของพวกมิจฉาชีพที่จ้องจะโกงพวกมือใหม่หรือผู้ที่พลาดในการทำธุรกรรมต่างๆด้านที่ดินและอสังหาริมทรัพย์มาเตือนสติเพื่อว่าเราจะได้ระมัดระวังตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเสียหายได้ง่ายๆกันครับ

  1. มาขอกู้เงิน แล้วนำโฉนดที่ดินมาวางค้ำประกันไว้ โดยไม่ยอมจดทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ผู้กู้ก็ไปยังกรมที่ดิน เพื่อขอคัดลอกโฉนดใหม่ เพราะแจ้งว่า ทำโฉนดที่ดินสูญหาย เจ้าหน้าที่ก็จะออกใบแทนโฉนดที่ดินมาให้ หลังจากนั้นผู้กู้ก็จะนำไปจดทะเบียนขาย ขายฝาก หรือจำนองเพื่อยื่นกู้ต่อไป หรือ ขโมยเอาโฉนดที่ดินของผู้อื่นมาแก้ไขชื่อ แล้วเอาไปประกันเงินกู้หรือทำสัญญาจะซื้อขายกับผู้อื่น ซึ่งกรณีนี้ คนลวงจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ แต่จะติดต่อหาเงินจากบุคคลภายนอกโดยทำสัญญากู้กันเอง หรือทำสัญญาจะซื้อจะขายรับเงินมัดจำไว้ล่วงหน้า เมื่อได้เงินแล้วก็หายตัวไปเลย
  2. อ้างตัวเป็นเจ้าของโครงการ โดยแอบอ้างเอาที่ดินของคนอื่นมาปักป้ายประกาศสร้างโครงการบ้านจัดสรร เปิดสำนักงานชั่วคราว พิมพ์โฆษณาเปิดให้จองบ้าน ให้ผู้จองวางมัดจำหรือจ่ายเงินดาวน์จากนั้นก็เชิดเงินหนีหายไปและอีกเหตุการณ์ที่เจอกันบ่อยคือ เจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรร ไม่ยอมทำตามที่โฆษณา ไว้ เช่น โฆษณาว่าจะตัดถนน สร้างสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ฯลฯ แต่ต่อมาพอสร้างเรียบร้อยแล้ว ก็นำสิ่งต่าง ๆ นั้น ไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว เช่น ให้บุคคลอื่นเช่าเป็นตลาดหรือบางครั้งนำที่ดินดังกล่าวไปจำนอง
  3. ทำทีว่าเป็นนายหน้าขายที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดินโดยเฉพาะพวกโบรกเกอร์ ขอค่านายหน้า แล้วหลอกให้เจ้าของที่ดินเซ็นสัญญามัดจำผูกมัดให้โอนที่ดินให้ก่อน โดยชำระบางส่วน ที่เหลือจะชำระภายหลัง จากนั้นจะสมคบกับผู้ซื้อ ผู้รับจำนอง หรือผู้รับซื้อฝากจดทะเบียนที่ดินนั้นต่อไป โดยไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือให้
  4. แบ่งขายที่ดินเป็นแปลง ๆ ด้วยวิธีผ่อนชำระ จะมีการนัดจดทะเบียนโอนกันเมื่อชำระเงินหมดแล้ว (แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์)
  5. ลวงเอาโฉนดที่ดินและใบมอบอำนาจของเจ้าของที่ลงชื่อไว้แต่ไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ นี่ก็คนสนิทที่โดนกันบ่อยมากๆ แบบตั้งใจมอบอำนาจให้จำนองหรือขอสอบเขตที่ดิน แต่ผู้รับมอบอำนาจทุจริตนำมากรอกข้อความให้เป็นเรื่องจดทะเบียนขายหรือขายฝากประเด็นแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ นั่นคือ เจ้าของที่ให้โฉนดที่ดินไปพร้อมกับบัตรประชาชน กรณีนี้คนลวงก็จะนำโฉนดที่ดินนั้นมา แล้วปลอมตัวว่าเป็นผู้ถือเอกสารสิทธิ์นั้น มาขอจดทะเบียนขาย ปลอมลายเซ็นและปลอมบัตรประชาชน มาติดต่อขอจดขายที่ดิน เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกดูบัตรประชาชนก็ ปรากฎว่าชื่อเป็นเจ้าของที่ดินจริง ลายเซ็นในเอกสารเหมือนกัน
  6. จงใจชี้หรือแจ้งที่ตั้งของแปลงที่ดินที่จะขายให้ ผิดกับความจริง เช่น แปลงที่ดินจริงๆ อาจตั้งอยู่ไกลจากถนน หรือแจ้งขนาดที่ดินที่ไม่เป็นจริง คือ เวลาพาผู้ซื้อไปดูที่ดิน มิจฉาชีพจะชี้ที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ใกล้ถนน กรณีที่ดินในต่างจังหวัดบางที่ ถึงกับลงทุนขุดย้ายหลักเขตที่ดิน โดยนำหลักเขตที่มีเลขหมายตรงกับโฉนดมา ปักไว้แทน