‘ทำเลศักยภาพ’… หนึ่งใน Buzzwords หรือคำหรูทางอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยกอ้างกล่าวถึงอย่างหนาหูในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในบริบทและความหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่มุ่งหมายในเป้าประสงค์เดียวกันนั้นคือ กระตุ้นความสนใจและยอดขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะแน่นอนว่า คอนโดมิเนียมหรือโครงการบ้านที่ใกล้รถไฟฟ้า แหล่งร้านค้า สถานบันเทิง และสถานศึกษา ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในทางที่ดีด้วยกันทั้งสิ้น
แต่กระนั้น มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ของดีที่มีการบอกต่อกันอย่างแพร่หลาย มันก็อาจจะเป็นวาระที่ ‘สายจนเกินไป’ เมื่อศักยภาพที่ถูกกล่าวถึง เริ่มเป็นที่ปรารถนา จนทำให้สนนราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตระหนก อย่ากระนั้นเลย เรามาลองดูสัญญาณเบื้องต้น ที่จะส่งผลให้ทำเลนั้นๆ กลายเป็น ‘ทำเลศักยภาพ’ ในอนาคตกันโดยล่วงหน้าได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่าตกรถด่วนขบวนสุดท้ายกันสักครั้ง
//’ชุมชน’ อย่ามองข้าม
ชึ้นชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์นั้น แม้จะมีการก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน วัสดุระดับคุณภาพ จากผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงเป็นที่ไว้ใจได้ หรือแม้แต่อสังหาฯ มือสอง แต่ทั้งหมดนั้น เราไม่อาจจะมองข้ามความสำคัญของ ‘ชุมชน’ ไปได้ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ นั่นเพราะการมีอยู่ของชุมชน จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงศักยภาพที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจเลือกทำเลหนึ่งๆ เพื่อดำเนินโครงการอสังหาฯ ภายใต้ลักษณะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มันจะช่วยให้คุณสามารถประเมินได้ว่า ทำเลนั้นๆ จะกลายเป็น ‘ทำเลศักยภาพ’ ได้หรือไม่ในเบื้องต้น
//ตรวจสอบ ‘ระยะห่าง’ จากเส้นทางคมนาคม
‘อยู่ใกล้รถไฟฟ้า’ เป็นอีกหนึ่ง Buzzwords ยอดฮิตที่มักจะพบเห็นได้ตามโครงการอสังหาฯ ประเภทคอนโดมิเนียมอาคารสูงย่านเมือง แต่ตรวจสอบให้แน่ใจในรายละเอียดปลีกย่อย เพราะคำว่า ‘ใกล้’ นั้น เป็นเพียงการกะประมาณเพียงคร่าวๆ หลายครั้งทีเดียวที่ความใกล้นั้น อาจจะอยู่ห่างออกไปในทำเลที่ไม่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย (ซึ่งจะพ่วงกับปัจจัยข้อแรกไปในทางหนึ่ง) เพราะแม้ว่าระยะทางครึ่งกิโลเมตร (เฉลี่ย 500 เมตร) จากสถานีรถไฟฟ้าจะไม่ใช่สิ่งที่หนักหนาเกินกว่าจะก้าวเดิน แต่ถ้ามันรอยล้อมด้วยพื้นที่เปลี่ยวรกชัฏ ผ่านชุมชนแออัด หรือสภาวะแวดล้อมไม่พึงประสงค์ มันก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมแก่การซื้อหาหรือเข้าข่าย ‘ศักยภาพ’ ในอนาคตแน่ๆ
//โครงการภาครัฐ นโยบายภาคเอกชน อย่าได้ตกหล่น
หลายพื้นที่ทีเดียวที่เคยถูกมองข้าม เพราะความห่างไกล คมนาคมไม่สะดวก แต่ถัดมากลายเป็นทำเลทองที่คนต่างแย่งจับจองกันให้จ้าละหวั่น เพียงเพราะการมาถึงของโครงการภาครัฐและเอกชน ที่เปลี่ยนที่รกร้างให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะทางด่วนตัดผ่าน ถนนวงแหวน หรือห้างสรรพสินค้าใหญ่น้อย (ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือย่านบางใหญ่ และย่านเกษตร-นวมินทร์) ดังนั้น หมั่นติดตามข่าวคราวเป็นระยะๆ เพราะไม่แน่ว่า คุณอาจจะได้เบาะแสของ ‘ทำเลศักยภาพ’ ได้ก่อนใคร
//ฟังด้วยหู แต่ต้องไปดู ‘ด้วยตา’
หลังรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ความเป็นไปได้มาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ไม่สามารถขาดได้ในการมองหาทำเลศักยภาพนั้นคือ ไปดูให้เห็นด้วยตาของตนเอง เพราะหลายครั้งทีเดียว ที่ข้อมูลจากการอ่าน การฟัง และการบอกต่อๆ กันมา สามารถเป็นสิ่งที่มีทั้งเรื่องจริงที่น่าจะเป็นไปได้ และเรื่องลวงที่ทำให้คุณลงแรงไปกับอสังหาฯ ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดในอนาคต (เช่น การปล่อยข่าวเพื่อปั่นราคาอสังหาฯ) ดังนั้น ไปดูให้แน่ใจ แล้วทวนซ้ำข้อต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้นอย่างละเอียด
แน่นอนว่าที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น ไม่ได้เป็นข้อสรุปชี้ชัดว่าทำเลหนึ่งๆ จะกลายเป็น ‘ทำเลศักยภาพ’ ได้อย่างเต็มร้อย มันยังต้องใช้การหาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบ พินิจพิเคราะห์อย่างรอบด้าน ซึ่งมันก็ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนด้านอสังหาฯ ที่ไม่อาจมองข้ามได้มาอย่างช้านาน เป็นพื้นฐานที่ไม่สามารถละเลยไปได้