ได้ยินเสมอว่า ลาวและไทย นับถือกันเป็นพี่น้อง แต่ใครจะพี่ ใครจะน้อง อันนี้ก็แล้วแต่ใครจะพิจารณา…
แต่ประเด็นที่เราจะพูดในวันนี้ไม่ใข่เรื่องใครพี่ ใครน้อง แต่เรากำลังจะพูดถึงธุรกิจอสังหาฯ ที่ไม่เพียงจะเติบโตและคนไทยให้ความสนใจเท่านั้น แต่ประเทศบ้านพี่เมืองน้อง อย่างลาว ก็ให้ความสนใจในธุรกิจอสังหาฯบ้านเรา และในขณะเดียวกันก็พัฒนาก่อร่างสร้างธุรกิจอสังหาฯในบ้านเมืองเค้าด้วยเช่นกัน
สปป.ลาว มีประชากรประมาณ 6.7 ล้านคน และมีประมาณ 5 แสนคน อาศัยอยู่ในเมืองหลวง เวียงจันทน์
จากผลสำรวจของ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด เผยว่า นักธุรกิจลาวกว่า 24% สนใจเป็นอย่างยิ่งในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย และอสังหาริมทรัพย์ที่สนใจซื้อเป็นพิเศษก็คืออาคารชุด หรือว่าคอนโดมิเนียมนั่นเอง
สำหรับทำเลที่ชาวลาวสนใจมากเป็นพิเศษ ได้แก่
อันดับ 1 พัทยา
อันดับ 2 กรุงเทพฯ
อันดับ 3 อุดรธานีและหนองคาย
สำหรับนักธุรกิจที่ต้องการไปลงทุนในลาวนั้น นักธุรกิจลาวมีความเห็นว่าควรลงทุนในที่ดินเพื่อการพัฒนาเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด รองลงมาเป็นที่อยู่อาศัย ห้องชุด ศูนย์การค้าและนิคมอุตสาหกรรมในสัดส่วนที่พอ ๆ ซึ่งในตอนนี้ลาวเองยังไม่มีอาคารชุดเพื่อการพักอาศัย ส่วนทำเลสำคัญในการลงทุนนั้น ได้แก่ พื้นที่ในกรุงเวียงจันทน์บริเวณริมแม่น้ำโขง ใจกลางกรุงเวียงจันทน์ บริเวณใกล้พระธาตุหลวง และบริเวณเส้นทางถนน450 ปี ไชยธานี ชานเมืองเวียงจันทน์ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ท่างอน บ้านฮอม สายลม สีหอม ซึ่งอยู่ในเขตกรุงเวียงจันทน์ ส่วนในพื้นที่อื่นได้แก่ วังเวียง (150 กิโลเมตรจากเวียงจันทน์) สามเหลี่ยมน้ำงึมกับน้ำโขง นอกกรุงเวียงจันทน์ และหลวงพระบาง เป็นต้น
การคิดราคาที่ดินใน สปป.ลาวนั้น จะคิดราคาขายเป็น ตารางเมตร เช่นเดียวกันกับ ประเทศไทย โดยที่ดินบริเวณที่แพงเป็นอันดับต้นๆ คือแถบประตูชัย ซึ่งเป็นแลนมาร์คของเมืองเวียงจันทน์ มีราคาซื้อขายกันประมาณ 1.5-2 แสนบาทไทย ซึ่งถ้าเทียบกับเมืองไทยแล้วก็จะใกล้เคียงกับที่ดินแถวจรัญสนิทวงศ์ ในเส้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
คอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรในลาว ถือเป็นที่อยู่ของคนมีฐานะดี ส่วนตึกแถวย่านชุมชนก็จะเป็นที่อยู่ของคนฐานะปานกลาง ซึ่งราคาตึกแถว 3-4 ชั้น ประมาณ 18-20 ตารางวา ในเมืองเวียงจันทน์นั้น มีราคาซื้อขายอยู่ที่ 2-3 ล้านบาท
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลลาวควรทำในตอนนี้นั้น นักลงทุนลาวมองว่าคือการชัดเจนกับนโยบายการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติ โดยเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยการลดภาษีค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันเก็บสูงถึงประมาณ 15-40% นอกจากนี้ควรพัฒนาสาธารณูปโภคของเมือง สภาพถนน หรือแม้แต่การสร้างระบบสินเชื่อหรือตลาดการเงินเคหะการ ซึ่งยังมีขนาดเล็กมาก เป็นต้น
สำหรับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนหลักๆก็คือ จีน, เวียดนาม, ไทย, เกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนในธุรกิจที่อยู่อาศัย, โรงแรม, สถานศึกษา รวมถึงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
น่าสนใจเหมือนกันนะคะ ยิ่งกำลังจะเปิดประชาคมอาเซียนแบบนี้ด้วยแล้ว การศึกษาและเรียนรู้เรื่องประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงนั้นก็ยิ่งจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนค่ะ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ, condo2chiangmai