เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเข้าเมือง ระหว่าง รถไฟฟ้า VS รถตู้-รถเมล์

รถไฟฟ้า,ค่าโดยสาร bts,รถไฟฟ้าสายสีม่วง,ตลาดคอนโด
รถไฟฟ้า,ค่าโดยสาร bts,รถไฟฟ้าสายสีม่วง,ตลาดคอนโด
รถไฟฟ้า,ค่าโดยสาร bts,รถไฟฟ้าสายสีม่วง,ตลาดคอนโด
รถไฟฟ้า,ค่าโดยสาร bts,รถไฟฟ้าสายสีม่วง,ตลาดคอนโด

สมาคมคอนโดฯโยนหินถามทาง เชื่อม 1 สถานีฟันหลอสายสีม่วงมีปัญหาค่าโดยสารแพง ทุบกำลังซื้อตลาดกลาง-ล่าง รายได้เดือนละ 2.7 หมื่น ซื้อบ้าน-ห้องชุดได้แค่ 1.5 ล้าน กางโมเดลค่าใช้จ่าย 3 รถไฟฟ้า เดินทางจากใจกลางเมืองย่านอโศกไปชานเมือง “บางใหญ่-สำโรง-บ้านทับช้าง” ค่าเดินทางสูงถึง 8% จี้รัฐบาลช่วยเหลือผู้บริโภค ด้านประธานบอร์ด รฟม.แจงโปรโมชั่นตั๋วสายสีม่วงเข้าเมือง 57 บาท/เที่ยว จัดยาวข้ามปี

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงที่รัฐบาลเตรียมเปิดให้บริการต่อเชื่อมการเดินทางที่ขาดหายไป 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ภายในต้นเดือนสิงหาคม 2560 นั้น สมาคมได้ทำการสำรวจค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเปรียบเทียบ 3 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง, สายสีเขียวหรือบีทีเอส และสายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พบว่ายังมีปัญหาค่าตั๋วโดยสารมีราคาแพง

รถไฟฟ้า,ค่าโดยสาร bts,รถไฟฟ้าสายสีม่วง,ตลาดคอนโดนั่ง รถไฟฟ้า เข้าเมืองค่าใช้จ่ายสูง

ทั้งนี้ แบบจำลอง “การใช้รถไฟฟ้ากับกำลังซื้อของชนชั้นระดับกลาง-ล่าง” ประเมินค่าใช้จ่ายเดินทางจากนอกเมืองเข้าสู่ย่านอโศกพบว่าการเดินทางโดยรถตู้หรือรถเมล์มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่เสียเวลาในการเดินทางมากกว่า หากโฟกัสรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีประเด็นค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางไม่แตกต่างจากการโดยสารรถตู้และรถเมล์ประจำทางอย่างเห็นได้ชัด

โดยตั้งสมมติฐานผู้บริโภคมีรายได้เดือนละ 27,000 บาท มีต้นทุนค่าครองชีพแพงทำให้มีโอกาสซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาเพียง 1.5 ล้านบาทเท่านั้น มีรายละเอียดดังนี้ ซื้อคอนโดมิเนียมราคา 1.5 ล้านบาท ในทำเลบางใหญ่ (สายสีม่วง), แบริ่ง (สายสีเขียว), บ้านทับช้าง (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) หักเงินดาวน์ 10% กู้แบงก์ 1.35 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อน 15 ปี ณ ดอกเบี้ย 5% เท่ากับมีงวดผ่อนเดือนละ 10,800 บาท

โดยการคำนวณเครดิตเพื่อปล่อยสินเชื่อ ใช้อัตราหนี้สินต่อรายได้หรือ DSR (Debt Service Ratio) สัดส่วน 40% ของรายได้ ดังนั้นรายได้ 27,000 บาท/เดือน หัก DSR 40% จึงเหลือรายได้สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน 60% หรือเดือนละ 16,200 บาท จากนั้นนำมาคำนวณค่าใช้จ่ายจากรายได้ที่เหลือ 60% พบว่ามี 3 ก้อนหลักคือ 1.ค่างวดสินเชื่อ 40% หรือเดือนละ 10,800 บาท 2.ค่าเดินทาง 8% หรือเดือนละ 2,160 บาท และ 3.ค่าอาหารและอื่น ๆ อีก 52% หรือเดือนละ 14,040 บาท

จี้รัฐช่วยลูกค้ากลุ่มกลาง-ล่าง

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงเมื่อเชื่อมต่อ 1 สถานีแล้ว โมเดลอัตราการดูดซับมองว่ายังไม่เดิน จะเห็นว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาช่วงปลายรถไฟฟ้าสีม่วงทำเลบางใหญ่ มีพลัมคอนโดซึ่งขายราคา 1.5 ล้านบาท แต่อัตราขายไม่ถูกดูดซับ ส่วนหนึ่งเพราะวันนี้ค่าเดินทาง 54 บาท/เที่ยว ไปกลับ 108 บาท คูณวันทำการ เดินทางมาทำงานอโศกจากบางใหญ่ ต้องใช้ค่ารถไฟฟ้าตั๋วเดือน 2,160 บาท การเดินทางต่อขา 80 นาทีขึ้นไป

“ค่าครองชีพสูง โดยเฉพาะค่าตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าสายใหม่ที่ออกไปชานเมือง เป็นทำเลที่กำลังซื้อตลาดกลาง-ล่างสามารถหาซื้อที่อยู่อาศัยได้ แต่การทำงานที่ต้องเดินทางเข้าเมืองมีค่าใช้จ่ายเดินทางสูงเพราะออฟฟิศบิลดิ้งอยู่ย่านใจกลางเมืองทั้งนั้น”

“ข้อเสนอคือค่าเดินทาง รัฐบาลต้องดูแลให้คนระดับกลาง-ล่างสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการเชื่อมต่อ 1 สถานีสายสีม่วง (เตาปูน-บางซื่อ) หลายคนคาดการณ์ว่าจะทำให้มีคนเดินทางมหาศาล แต่จะเวิร์กหรือไม่ต้องรอดูกันต่อไป ปกติพฤติกรรมที่สำรวจดูคนจะเดินทางสายยาวสู่จุดเชื่อมต่อ มีการขึ้นลงระหว่างทางน้อยมาก ในขณะที่ทุกวันนี้ รฟม.ทำโปรโมชั่นเดินทาง 54 บาท แต่ถ้ายกเลิกโปรฯเมื่อไหร่ ค่าเดินทางจะ 80 บาททันที” นายประเสริฐกล่าว

จัดโปรฯตั๋วสีม่วงลากยาวข้ามปี

พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า วันที่ 11 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 12.00 น.เป็นต้นไป เตรียมเปิดให้บริการเชื่อม 1 สถานีฟันหลอช่วงสถานีเตาปูนของสายสีม่วง กับสถานีบางซื่อของสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง)

“หลังเปิดบริการ 1 สถานี คาดว่าทำให้ผู้โดยสารสายสีม่วงเพิ่มขึ้น 30% จากปัจจุบันเฉลี่ย 30,000 เที่ยวคน/วัน เป็น 45,000 เที่ยวคน/วัน เพราะประชาชนเดินทางเข้าเมืองหรือไปยังจุดหมายปลายทางได้สะดวกมากขึ้น”

โดยอัตราค่าโดยสาร รฟม.ตรึงค่าโดยสารสายสีม่วงจนถึงหลังปีใหม่ ปัจจุบันจัดโปรฯลดราคา 50% จาก 14-42 บาท อยู่ที่ 14-29 บาท, วันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ 15 บาทตลอดสาย, ผู้โดยสารที่ใช้บริการทั้งสายสีม่วงและสีน้ำเงินลดค่าแรกเข้า 14 บาท ดังนั้นหากใช้บริการจากสถานีต้นสายสีม่วงที่คลองบางไผ่ไปยังสถานีหัวลำโพงของสายสีน้ำเงิน ตั๋วเดือนมีค่าโดยสาร 57 บาท/เที่ยว ตั๋วปกติหรือตั๋วแบบหยอดเหรียญ 70 บาท/เที่ยว

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก prachachat.net

ต้องการซื้อ-เช่ !!!คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่

ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินกับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย