เปลี่ยนโซนเวลา อาเซียน กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรอ…?

ได้ข่าวแว่วมาเรื่อยๆว่า จะมีการปรับเปลี่ยนโซนเวลาประเทศไทยและประเทศอาเซียนให้เป็นเวลาเดียวกันเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เสมือนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่นขันด้านเศรษฐกิจนั่นเอง


โดยเลือกปรับเวลาให้เป็นเวลาเดียวกันกับสิงคโปร์และฮ่องกง เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียน และถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหนึ่งเดียวในกลุ่มอาเซียนนั่นเอง

ล่าสุด ประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นประธานกลุ่มอาเซียนในปีนี้ ได้ออกแถลงการณ์โดยนายอานิฟาห์ อามาร รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย เรื่องการใช้เขตเวลาร่วมกันใน 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งให้เหตุผลว่า การใช้เขตเวลาเดียวกันจะช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจและภาคธนาคาร รวมถึงสายการบินต่างๆของประเทศสมาชิก

สำหรับเขตเวลาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนใช้เวลาอยู่ 4 เขต โดยแบ่งได้ดังนี้
1. มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และบรูไน ใช้เวลามาตรฐานกรินิช หรือ จีเอ็มที +8 ชั่วโมง
2. ไทย, ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม ใช้เวลา จีเอ็มที +7 ชั่วโมง
3. พม่า ใช้เวลา จีเอ็มที +6 ชั่วโมง
4. อินโดนีเซีย ซึ่งมีเกาะมากมายหลายพันเกาะนั้น ใช้เวลา จีเอ็มที +7 ถึง +9 ชั่วโมง

ซึ่งความจริงแล้วการหารือเรื่องโซนเวลานี้มีการพูดคุยกันมาถึงหลายต่อหลายครั้ง ทั้งในปี 2538, 2547 และล่าสุดในปีแห่งการรวมกลุ่มสมาชิกอาเซียน 2558 ซึ่งทางมาเลเซียเองก็ได้กล่าวว่าจะทำการผลักดันเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างสูงสุด

สำหรับความเห็นของผู้เขียนเองแล้ว คิดว่า เรื่องเวลานั้นก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการติดต่อสื่อสารกันทางธุรกิจ แต่จากระยะห่างของเวลาที่ไม่ได้มากจนเกินไปนั้นจึงคิดว่าไม่น่าจะใช่เรื่องที่เป็นปัญหาสักเท่าใดนัก แต่ส่วนที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญนั้น คิดว่าเป็นเรื่องของระบบและการแบ่งหน้าที่เพื่อความชัดเจนของแต่ละประเทศอาเซียนเมื่อรวมกันแล้ว 10 ประเทศมากกว่า เพราะเมื่อระบบและการจัดการอยู่ในสภาพที่ชัดเจนแล้ว การติดต่อสื่อสารหรือขยายตัวทางเศรษฐกิจก็น่าจะไม่มีปัญหามากแต่อย่างไร ท้ายที่สุดแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ไม่พ้นที่แต่ละประเทศต้องพยายามทำหน้าที่ในส่วนของตนเองให้สมบูรณ์และสร้างเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศขึ้นมาได้ และเมื่อถึงวันนั้น อาเซียน ก็คงจะเป็นปึกแผ่นและมีเสถียรภาพมากพอที่จะต่อรองกับประเทศมหาอำนาจได้