เปิดเทคนิคการขอสินเชื่อบ้านจากธนาคารยังไงให้ผ่านฉลุย (สำหรับวัยเริ่มทำงาน)

สำหรับวัยเริ่มทำงาน การขอสินเชื่อบ้านนั้นอาจจะดูเป็นเรื่องยากและไกลตัว เนื่องจากเงินเดือนและอายุงานอาจยังไม่นานเพียงพอ แต่ข้อได้เปรียบในการขอสินเชื่อบ้านของวัยเริ่มทำงาน คือภาระหนี้สินที่ยังไม่มี ทำให้เครดิตดีและอาจจะกู้ผ่านได้ง่าย โดยบทความนี้จะกล่าวถึงการเตรียมตัวสำหรับขอสินเชื่อและเทคนิคการขอสินเชื่อบ้านสำหรับวัยเริ่มทำงานและฟรีแลนซ์ ที่อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของรายได้ประจำ

_pic_1_

การขอสินเชื่อบ้าน สำหรับวัยเริ่มทำงาน ต้องทำงานมาแล้วกี่ปี ?

วัยเริ่มทำงานอาจจะมีคำถามว่า ต้องมีอายุงานนานแค่ไหนถึงจะสามารถยื่นขอสินเชื่อบ้านได้ โดยปกติแล้วธนาคารจะพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อให้กับพนักงานที่มีอายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยอายุงาน 1 ปีนี้อาจเริ่มนับตั้งแต่วันที่เริ่มทำงานครั้งแรก ไม่จำเป็นต้องเป็นระยะเวลาที่ทำงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องผ่านการทดลองงานในบริษัทที่ทำอยู่ปัจจุบันก่อน ซึ่งหากคุณเป็นวัยเริ่มทำงานที่วางแผนจะขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน ควรทำงานให้ครบ 1 ปี และต้องผ่านการทดลองงานไปแล้วเท่านั้น เนื่องจากอายุงานเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถสะท้อนความมั่นคงทางด้านรายได้ประจำ

_pic_2_

การขอสินเชื่อบ้าน สำหรับฟรีแลนซ์ยุ่งยากหรือไม่ ?

สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ ซึ่งไม่มีรายได้ประจำที่แน่นอนทุกเดือน ในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะมีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่าพนักงานประจำเล็กน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสยื่นกู้เอาซะเลย โดยสิ่งที่ผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ควรต้องเตรียมตัวเบื้องต้นก่อนยื่นกู้ มีดังนี้

  • ยื่นเสียภาษีอย่างถูกต้องทุกปี เนื่องจากฟรีแลนซ์หลายคนไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ รับงานเป็นจ็อบ ทำให้การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) จึงเป็นหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถยืนยันได้ว่าเราเป็นผู้มีรายได้อย่างแท้จริง ซึ่งควรแนบเอกสารการเสียภาษีนี้ในการขอสินเชื่อบ้าน
  • ใช้บัญชีออมทรัพย์เพื่อฝากเงินกับสถาบันการเงิน เนื่องจากฟรีแลนซ์จะไม่มีรายการเดินบัญชีที่มีตัวเลขเงินเดือนเข้าออกแบบประจำอย่างเงินเดือน ดังนั้นการเปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน เพื่อแสดงถึงรายการเดินบัญชี สามารถสะท้อนถึงรายได้ถึงฟรีแลนซ์ได้เป็นอย่างดี โดยหากเป็นการฝากบัญชีออมทรัพย์ที่มีการฝากเงินเป็นจำนวนที่แน่นอนอยู่เป็นประจำ ก็จะเพิ่มโอกาสในการพิจารณาสินเชื่อได้มาก
  • จัดเก็บเอกสารการเงินและการจ้างงานอย่างดี ในการจ้างงานแต่ละครั้ง ฟรีแลนซ์ควรจัดเก็บเอกสารการรับเงิน อาทิ ใบทวิ 50, ใบเสร็จ, หนังสือสัญญา, หรือเอกสารการจ้างงาน ควบคู่รายการเดินบัญชีรายได้ เพื่อแสดงถึงรายได้และหลักฐานที่มารายได้ที่ชัดเจน

_pic_3_

การขอสินเชื่อบ้านต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือทำงานแบบฟรีแลนซ์ ก็จะมีวิธีการเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อบ้านที่เหมือนกัน โดยวิธีการเหล่านั้นได้แก่

  • สร้างประวัติหนี้ที่ดี การเป็นหนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป ถ้าหากว่าคุณมีวินัยในการชำระหนี้ที่ดี โดยการเป็นหนี้ยังเป็นการสร้างเครดิตการชำระเงินให้กับตัวคุณในอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นหากใครที่อยากจะขอสินเชื่อบ้าน จะต้องรักษาะประวัติการชำระหนี้ที่ดี ไม่ผิดนัดชำระ ไม่ค้างชำระ หรือถ้าหากเคยมีประวัติการผิดนัดหรือค้างชำระ ควรสร้างประวัติใหม่ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และไม่ควรสร้างหนี้อื่นๆ เพิ่ม
  • ต้องรักษาภาระหนี้สินให้ไม่เกินสัดส่วนที่ธนาคารกำหนด ในการพิจารณาสินเชื่อและการขอสินเชื่อบ้าน ธนาคารจะพิจารณาวงเงินสินเชื่อที่ผู้กู้สามารถผ่อนได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน หรือเมื่อรวมกับภาระหนี้อื่นๆ แล้วไม่เกินสัดส่วนร้อยละ 40 ของเงินเดือน ดังนั้นการบริหารหนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
  • การเตรียมเอกสารและเลือกธนาคาร เมื่อมั่นใจคุณสมบัติของคุณพร้อมสำหรับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยแล้ว ต่อมาก็ลองเปรียบเทียบนโยบายและดอกเบี้ยของแต่ละธนาคาร โดยข้อที่ควรนำมาพิจารณาได้แก่
    1. เปอร์เซ็นต์วงเงินสินเชื่อของราคาประเมิน
    2. อัตราดอกเบี้ย
    3. ค่าธรรมเนียมต่างๆ
    4. ระยะเวลาในการกู้
    5. ข้อเสนอในการทำประกันชีวิตและความคุ้มครองสินเชื่อ

_pic_4_

เมื่อเลือกธนาคารที่เหมาะกับความต้องการแล้ว แนะนำให้ลองยื่นกู้อย่างน้อย 3 ธนาคารเพื่อมาเปรียบเทียบ โดยต้องเตรียมเอกสารสำหรับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, สลิปเงินเดือน, รายการเดินบัญชีย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน และข้อมูลของโครงการที่จะซื้อ หรือจะปรึกษาทีมขายของโครงการเพื่อทำเรื่องขอสินเชื่อบ้านก็ได้ และอย่าลืมว่าผู้ซื้อควรเตรียมเงินอย่างน้อย 10% ของราคาบ้าน สำหรับเงินดาวน์ ค่าธรรมเนียม รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย

ที่มา:

https://www.livinginsider.com/

https://www.krungsri.com/bank/th/planyourmoney/must-stories/credit-plan/4-steps-to-success-home-loan.html