DotProperty.co.th

เปิดโผจุดเชื่อม 39 สถานีรถไฟฟ้า เชื่อมกรุง “บางซื่อ-ศูนย์วัฒนธรรม”ฮับการเดินทางแหล่งธุรกิจใหม่ใหญ่สุด

สถานีรถไฟฟ้าbts,สถานีรถไฟฟ้าmrt 01

เปิดโผ 39 สถานีจุดตัด สถานีรถไฟฟ้า ทั่วกรุง ทำเลทองแห่งใหม่ เชื่อมการเดินทาง แหล่งงานและที่อยู่อาศัย จากชานเมือง-ศูนย์กลางธุรกิจ นายกสมาคมคอนโดฯเผย “อโศก-สุขุมวิท-พญาไท” จุดตัดใต้ดิน-บีทีเอส-แอร์พอร์ตลิงก์ฮอต ราคาที่ดินพุ่ง ห้องชุดขาย 2 แสน/ตร.ม. บิ๊กศุภาลัยชี้สถานีศูนย์วัฒนธรรม จุดเชื่อมต่อใต้ดินและสีส้ม อนาคตขึ้นแท่นนิวซีบีดี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปัจจุบันการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกแนวรถไฟฟ้าสารพัดสีกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าที่จะเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ประกอบการ

เปิดโผจุดเชื่อม39สถานี

สถานีรถไฟฟ้าbts,สถานีรถไฟฟ้าmrt 02

จากการสำรวจพบว่ามีสถานีที่เป็นจุดตัดรถไฟฟ้า จำนวน 39 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีหมอชิตจะเชื่อมกับสถานีจตุจักรรถไฟฟ้าใต้ดิน 2.สถานีสยามสแควร์จุดเปลี่ยนถ่ายของบีทีเอสไปยังสายสีลม ปลายทางที่สถานีบางหว้า

3.สถานีพญาไทเชื่อมแอร์พอร์ตลิงก์ และสาย Missing Link (บางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก) ในอนาคต 4.สถานีราชเทวีเชื่อมกับสถานีประตูน้ำสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน) 5.สถานีอโศกเชื่อมกับสถานีสุขุมวิทของรถไฟฟ้าใต้ดิน 6.สถานีสีลมรถไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมสถานีศาลาแดงบีทีเอส 7.สถานีวุฒากาศของบีทีเอสเชื่อมกับสถานีตากสินสายสีแดง (ตากสิน-มหาชัย)

8.สถานีบางหว้าของบีทีเอสเชื่อมสายสีน้ำเงินต่อขยาย 9.สถานีห้าแยกลาดพร้าว สายสีเขียวต่อขยาย (หมอชิต-คูคต) เชื่อมกับสถานีพหลโยธินรถไฟฟ้าใต้ดิน 10.สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ของสายสีเขียวต่อขยายเชื่อมกับสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 11.สถานีสำโรงของสีเขียวต่อขยาย (แบริ่ง-สมุทรปราการ) เชื่อมสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)

12.สถานีท่าพระจุดเปลี่ยนถ่ายของสายสีน้ำเงินเดิมและส่วนต่อขยาย 13.สถานี วังบูรพาเชื่อมสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) กับสีน้ำเงินต่อขยาย 14.สถานีหัวลำโพงเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินกับสีแดง (บางซื่อ-หัวลำโพง) 15.สถานีบางขุนนนท์เชื่อมสายสีส้ม 16.สถานีสิรินธรเชื่อมสีแดง (มักกะสัน-บางบำหรุ) กับสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 17.สถานีเตาปูนจุดเปลี่ยนถ่ายสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน)

18.สถานีศูนย์วัฒนธรรมเชื่อมสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 19.สถานีเพชรบุรีเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินกับแอร์พอร์ตลิงก์สถานีมักกะสัน 20.สถานีตลิ่งชันเชื่อมสายสีแดงกับสีส้ม 21.สถานีวงเวียนใหญ่เชื่อมสีม่วงต่อขยายกับสีแดงหัวลำโพง-มหาชัย 22.สถานีบางซ่อนเชื่อมสายสีม่วงกับสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน)

23.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมสายสีม่วงกับสีชมพู 24.สถานีราชปรารภเชื่อมสายสีส้มกับแอร์พอร์ตลิงก์ 25.สถานีมีนบุรีเชื่อมสีส้มกับสีชมพู 26.สถานีพัฒนาการเชื่อมสายสีเหลืองกับแอร์พอร์ตลิงก์สถานีหัวหมาก 27.สถานีแยกลำสาลีเชื่อมสายสีเหลืองกับสีส้ม 28.สถานียมราชเชื่อมสายสีส้มกับสีแดง 29.สถานีสามเสนจุดเชื่อมกับสายสีแดง 30.สถานีผ่านฟ้าสายสีม่วงต่อขยายกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสายสีส้ม

31.สถานีบางซื่อจุดเชื่อมระบบรางทั้งรถไฟชานเมืองไฮสปีดเทรนและรถไฟฟ้า32.สถานีราชวิถีจุดเชื่อมสายสีแดง 33.สถานีหลักสี่เชื่อมสายสีแดงกับสีชมพู 34.สถานียศเสเชื่อมบีทีเอสกับสีแดง 35.สถานีรางน้ำเชื่อมสีส้มกับสีแดง 36.สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสายสีแดงเชื่อมกับบีทีเอส 37.สถานีลาดพร้าวรถไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมสายสีเหลือง 38.สถานีบางบำหรุจุดเชื่อมสายสีแดง และ 39.สถานีสามเสนในจุดเชื่อมของสายสีแดงกับแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยาย

อโศก-สุขุมวิท-พญาไทฮอต

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันจุดตัดรถไฟฟ้าหรือสถานีอินเตอร์เชนจ์ที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ มองว่าเป็นทำเลสถานีอโศก-สุขุมวิท และสถานีพญาไท ซึ่งเชื่อมบีทีเอสกับแอร์พอร์ตลิงก์ ถือเป็นทำเลไพรมที่พัฒนาไปจนถึงระดับที่เป็นย่านพาณิชยกรรม ทำให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น และราคาอสังหาฯเพื่อการอยู่อาศัยแพงตามไปด้วย มีการเปิดตัวที่ราคามากกว่า 2 แสนบาท/ตร.ม. ทั้งนี้พื้นที่ทั้ง 2 แห่งยังมีศักยภาพพัฒนาที่อยู่อาศัยได้อีก แต่ต้องเป็นระดับลักเซอรี่

ส่วนบริเวณอื่นที่มองว่ามีแนวโน้มที่ดี คือทำเลบางซื่อ ซึ่งรัฐมีแนวคิดจะพัฒนาเป็นสถานีกลางบางซื่อ เชื่อมต่อการเดินทางทั้งสายสีน้ำเงิน ม่วง และแดง ทำให้เป็นฮับการเดินทาง ด้วยศักยภาพแล้วการเดินทางที่จะมารวมศูนย์บริเวณนี้ ทำให้น่าจะเป็นจุดดึงดูดประชากร คล้ายกับมารีน่าเบย์ที่สิงคโปร์ แต่มีอุปสรรคคือที่ดินรอบบริเวณส่วนใหญ่เป็นของหน่วยงานรัฐและเครือเอสซีจี ทำให้เอกชนหาที่ดินพัฒนาได้ยาก

ส่วนสถานีที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะรีบเร่งลงทุน เพราะเอกชนมีบทเรียนจากการก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้การลงทุนผิดจังหวะ มีสต๊อกคอนโดฯเหลือขายมากเพื่อรอเดินรถไฟฟ้า เชื่อว่าจะมีกระแสที่ดีอีกครั้งในพื้นที่รถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ เมื่อเริ่มการก่อสร้างแล้ว

สถานีศูนย์วัฒนธรรมฮับแห่งใหม่

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย กล่าวว่า จุดตัดรถไฟฟ้าที่น่าจะเป็นพื้นที่อนาคตคือ สถานีศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นสถานีอินเตอร์เชนจ์สายสีน้ำเงินกับส้ม ทำให้จะกลายเป็นฮับสำหรับคนย่านรามคำแหง เพราะเป็นการเปิดการพัฒนาบนถนนสายหลักคือรามคำแหง ที่ยังไม่มีรถไฟฟ้าเชื่อมการเดินทางมายังในเมือง

ทั้งนี้สถานีศูนย์วัฒนธรรมถือเป็นเขตนิวซีบีดี (ศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่) แม้จะยังมีที่ดินเปล่าให้พัฒนาได้อีกมาก แต่ราคาค่อนข้างสูง บริเวณริมถนนหลักราคากว่า 6 แสนบาท/ตร.ว. หากพัฒนาเป็นคอนโดฯราคาจะไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนบาท/ตร.ม. หรือถ้าเป็นที่ดินในซอยต่าง ๆ ราคาประมาณ 2-3 แสนบาท/ตร.ว. พัฒนาห้องชุดต้องเปิดขายไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นบาท/ตร.ม.

นอกจากนี้มองว่ายังไม่มีจุดตัดรถไฟฟ้าในอนาคตอื่น ๆ ที่น่าสนใจ แม้แต่พื้นที่สถานีกลางบางซื่อจะเป็นฮับการเดินทางด้านระบบราง คาดว่าจะพัฒนาได้ยากเพราะไม่ใช่พื้นที่ที่มีชุมชนดั้งเดิม ต้องใช้เวลาในการสร้างดีมานด์ให้คนต้องการเข้ามาอาศัย ซึ่งย่านบางซื่อจะเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายคนไปสู่จุดอื่นมากกว่าแหล่งที่พักอาศัย

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปจาก prachachat.net

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th/