DotProperty.co.th

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘เงินประกันการเช่าหอพัก’ (ตอนที่ 2)

หลังจากที่ผู้อ่านทุกท่าน ได้รับทราบถึงนิยามของสิ่งที่เรียกว่า ‘เงินประกันการเช่าหอพักหรือที่อยู่อาศัย’ ไปในตอนก่อนหน้า แม้มันจะเป็นกระบวนการที่ตรงไปตรงมา เป็นที่เข้าใจกันได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าของและประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น (ทั้งใหญ่น้อย) เพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่ายธุรกรรม แต่ในแง่หนึ่ง มันก็เป็นขั้นตอนที่มักจะก่อให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งให้เห็นอยู่เป็นประจำ มันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะได้ลองมามองและศึกษา ‘อีกด้านหนึ่ง’ ของเงินประกันการเช่า ที่ไม่ควรมองข้ามไป

//การริบเงินประกัน: รับได้ตามสัญญา หรือว่าสิ่งที่ไม่สมควรในทางปฏิบัติ?

โดยส่วนมากแล้ว เงินประกันการเช่า โดยกระบวนการก็จะเป็นส่วนกลางที่ทางเจ้าของจะสามารถหักออกไปเพื่อเป็นค่าบำรุงรักษา ซ่อมแซม และปรับปรุงสภาพห้องพัก ตามแต่ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการเข้าพัก ว่าจะต้องอยู่ในขั้นต่ำเป็นจำนวนเท่าใด

ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนปกติที่เป็นที่เข้าใจกันได้ หากแต่กรณีที่มักมีปัญหา กลับอยู่ที่การ ‘ริบเงินประกัน’ หากผิดเงื่อนไขเวลาเข้าพัก ที่มักเป็นจุดกังขาว่าสามารถทำได้จริง หรือสมควรแก่เหตุมากน้อยเพียงใด ในที่นี้ อาจจะกล่าวได้ว่า ขึ้นกับข้อสัญญาที่ทางผู้เช่าและเจ้าของสถานที่ได้ทำการตกลงกันไว้ในเบื้องต้น ‘รวมถึง’ กรณีที่จะมีการย้ายออก หรือยกเลิกสัญญา ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว ถ้าผู้เช่าที่อยู่อาศัย ทำการอยู่จนครบเวลา และมีการแจ้งล่วงหน้า เจ้าของสถานที่ไม่มีสิทธิ์ที่จะริบเงินประกันนี้เอาไว้ (เว้นเสียแต่การหักตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง) ทั้งนี้ การต่อสัญญา ในทางกฏหมายแล้ว จะเว้นช่วงระยะเวลาไว้ประมาณ 7 วัน จึงจะถือว่าเป็นการยอมรับไปโดยปริยาย ถ้าหากจะยกเลิก ต้องมาแจ้งหลังจากครบกำหนด สำหรับคนที่ต้องการจะย้ายออกด้วยความจำเป็นหรือความต้องการต่างๆ

//แล้วปัญหาทั้งหมด เกิดจากความผิดของใคร?

แต่ทั้งนี้ ปัญหาอันเกิดจากเงินประกันการเช่าโดยส่วนมาก มักจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากทางฝั่งของผู้เช่า (ที่ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่มี) หรือมาจากฝั่งเจ้าของสถานที่ (ที่ร่างหนังสือสัญญาด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อน ยากแก่การเข้าใจ…) ซึ่งยากแก่การติดตามผลหากไม่มีคู่สัญญาที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีอยู่ในมือ อันจะนำไปสู่สถานการณ์การถูกเอาเปรียบ ไม่ว่าจะจากฝั่งเจ้าของสถานที่ หรือฝั่งผู้เช่าที่หาทางหนีทีไล่หลบเลี่ยงความผิดก็ตาม ทั้งนี้ ผู้เช่าควรตรวจสอบสภาพของห้องพักก่อนริเริ่มการทำสัญญา และควรขอคู่สัญญาที่จะทำการลงลายลักษณ์อักษรไว้เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการอ้างอิงในภายหลัง

เพิ่มเติมสำหรับผู้เช่า: การทำสัญญาระยะเวลาเพื่อการเช่าอยู่ล่วงหน้าที่มากกว่า 3 เดือนนั้น อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องเดินทาง หรือย้ายถิ่นฐานและสถานที่ทำงานอยู่เป็นประจำ ขอให้พิจารณาในปัจจัยนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจ ว่าห้องเช่าดังกล่าวนั้น คุ้มค่ามากเพียงใด กับเงินที่ต้องวางประกันลงไปล่วงหน้า (และจะผูกมัดคุณกับสถานที่ดังกล่าวอีกระยะเวลาหนึ่ง)

ทั้งหมดนี้ เราต้องการจะบอกกล่าวกันถึงผู้เกี่ยวข้องในธุรกรรมของการเช่าอยู่อาศัย ไม่ว่าจะฝั่งเจ้าของ หรือฝั่งผู้เช่า ว่าเงินประกันการเช่านั้น โดยเนื้อแท้แล้ว ไม่ใช่อะไรที่ซับซ้อน และไม่ใช่อุปกรณ์เพื่อการเอารัดเอาเปรียบ ขอเพียงมีการทำสัญญาที่เปิดเผยโปร่งใส สร้างความมั่นใจสำหรับทั้งสองฝ่าย นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปในรูปแบบที่ควรจะเป็น เพราะเชื่อว่า ธุรกิจสถานที่เช่าอยู่อาศัยนั้น มันมีเรื่องน่าปวดหัวกว่าเงินประกันอยู่หลายปัจจัย พักเรื่องเงินประกันเอาไว้ แล้วไปใส่ใจกับประเด็นอื่นๆ จะดีกว่า