เวียนมาบรรจบอีกครั้ง สำหรับ วันแม่แห่งชาติ “12 สิงหา มหาราชินี” ซึ่งในปีนี้ พ.ศ.2560 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 85 พรรษา ซึ่งหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็พร้อมจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เรื่องเล่าส่วนพระองค์ พระราชจริยวัตร ‘ พระราชินี ‘ แม่ของแผ่นดิน
ในส่วนของ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ในวันนี้ อยากนำเสนอเกร็ดในพระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากหนังสือ “ใกล้เบื้องพระยุคลบาท” กับ “ลัดดาซุบซิบ” หนังสืออันทรงคุณค่า ที่พิมพ์มาแล้วนับสิบครั้ง ซึ่งเล่มที่ทีมข่าวฯ ถืออยู่ในมือนั้น ตีพิมพ์ครั้งที่ 20 แล้ว ซึ่งผู้เขียนคือ นายแถมสิน รัตนพันธุ์ หรือ ลัดดา ซุบซิบ นั่นเอง
รักแรกพบ ในหลวง-พระราชินี
เรื่องแรกที่หยิบยกมาเผยแพร่นั้น คือเรื่อง “รักแรกพบ” ของ ในหลวง-พระราชินี โดยในหนังสือ “ใกล้เบื้องพระยุคลบาท” เป็นการเล่าถึง การครบรอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ณ วังสระปทุม มีสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธาน หากนับรวมปี พ.ศ.2560 ในปัจจุบัน จะครบ 67 ปี
หากย้อนกลับไป เมื่อปี 2521 ปีนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระราชทานสัมภาษณ์ในภาพยนตร์สารคดี เรื่อง “ขวัญของชาติ” ออกแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ บี.บี.ซี. กรุงลอนดอน
พระราชทานสัมภาษณ์ถึง “รักแรกพบ” ของในหลวง-พระราชินี มีความตอนหนึ่งว่า…
“สำหรับข้าพเจ้าเป็นการเกลียดแรกพบมากกว่า รักแรกพบ เนื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าจะเสด็จถึงเวลาบ่าย 4 โมง แต่จริงแล้วเสด็จมาถึง 1 ทุ่ม ช้ากว่านัดหมายตั้ง 3 ชั่วโมง”
“ต้องทำให้ข้าพเจ้าต้องซ้อมถอนสายบัวอยู่จนแล้วจนเล่า จึงเป็นการเกลียดเมื่อแรกพบมากกว่า”
“แต่ในการพบกันครั้งที่สอง ตอนนั้นกลายเป็นความรัก เป็นสิ่งธรรมดาเหมือนอย่างคุณเคยได้ยินนั่นแหละ คือ เป็นความรักแรกพบ”
“ข้าพเจ้าไม่ทราบมาก่อนว่าพระองค์ทรงรักข้าพเจ้า เพราะเวลานั้น อายุเพิ่งย่าง 15 ปี และตั้งใจไว้ว่าจะเป็นนักเปียโน เป็นนักเปียโนที่แสดงในงานคอนเสิร์ต”
“ตอนประทับอยู่ที่โรงพยาบาลหลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีพระอาการหนักมากตำรวจเขาโทรศัพท์ไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระราชชนนีฯ พระองค์ท่านรีบเสด็จไปทันที แต่แทนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีปฏิสันถารกับพระองค์ ท่านกลับทรงหยิบรูปข้าพเจ้าออกมาจากกระเป๋า โดยที่ข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าพระองค์ทรงมีรูปข้าพเจ้าอยู่”
“แล้วพระองค์ก็ตรัสให้นำตัวข้าพเจ้าเข้าเฝ้า พระองค์ทรงรักข้าพเจ้า”
“ตอนนั้นข้าพเจ้านึกแต่เรื่องที่จะอยู่กับคนที่ข้าพเจ้ารักเท่านั้น ไม่ได้นึกไปไกลถึงหน้าที่และภาระของพระราชินีเลย”
“พระราชินี” ศิษย์เก่าเซนต์ฟรังฯ หัวหน้าทีม “วิ่งเปี้ยว”
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในสมัยพระเยาว์นั้น เรียนอยู่ที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ หมายเลขประจำตัว 371 โดยมีพระสหายร่วมชั้นเรียน จำนวน 37 คน “ลัดดา” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จึงได้ไปเปิดหนังสือรุ่น ศิษย์เก่าเซนต์ฟรังฯ ปี 2491 พบคำสัมภาษณ์ของพระสหายร่วมรุ่นที่ใกล้ชิดสนิทสนมเป็นพิเศษก็คือ ปรียา ไตลังคะ ที่เปลี่ยนนามสกุลหลังแต่งงานเป็น กลิ่นช้อย อีกคนคือ สุพร เนื่องยินดี ที่เปลี่ยนนามสกุลหลังแต่งงานเป็น สุสังกรกาญจน์
ปรียา และ สุพร ผลัดเปลี่ยนร่วมรำลึกอดีตถึง ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ไว้หลายข้อความเป็นที่น่าประทับใจยิ่ง…
เรียนอยู่ชั้นเดียวกันเลยค่ะ อยู่ห้องเดียวกันจนถึงชั้น ม.3 มีนักเรียนอยู่ 30 กว่าคน ไปไหนไปด้วยกันตลอด เรียกท่านด้วยชื่อเฉยๆ พูดไม่มีคะขาหรอกค่ะ มาสเซอร์แอสเตอร์เคยถามว่า ดิฉันกับสมเด็จฯ ทำไม talkative (ช่างพูด) จัง ช่างพูดในห้องเรียนจนถูกมาสเซอร์แอสเตอร์ดุบ่อย ๆ
ตอนนั้น เซนต์ฟรังฯ ยังไม่ได้รับรองวิทยฐานะ เราจึงต้องไปสอบที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ เดินทะลุตรอกไปสอบ สมเด็จฯ ท่านทรงเปียโน ทรงร้องเพลงโฮมสวีทโฮม ด้วยนะคะ
เวลาอาหารกลางวัน เด็กคนอื่นทานที่โรงอาหาร ท่านมีคนมาส่งปิ่นโต เอาปิ่นโตมากับท่านผู้หญิงบุษบา น้องสาว บางทีมีขนมหวาน ท่านก็แบ่งให้เราทาน บางทีก็เป็นก๋วยเตี๋ยว เป็นก๋วยเตี๋ยวหมู เจ้าโล ธุระวณิชย์ คนขายชื่อเจ๊กฮะ แห้งชามละ 3 สตางค์ น้ำชามละ 5 สตางค์ อะไรทำนองนี้ค่ะ
การเล่นที่นิยมมากของนักเรียนในห้องนี้คือ วิ่งเปี้ยว โดยเฉพาะสมเด็จฯ ถือได้ว่าเป็นกีฬาโปรด ทรงเป็นหัวหน้าทีม เพราะวิ่งเร็วมาก ต่อมาเมื่อท่านเสด็จเยี่ยมเซนต์ฟรังฯ หลังเป็นสมเด็จพระราชินีแล้ว ท่านยังรับสั่งกับดิฉันว่า จำได้ไหม ตรงนี้เป็นเพลย์กราวด์ เราเคยเล่นวิ่งเปี้ยวด้วยกัน
สิ่งที่จำแม่นเป็นพิเศษคือ พระโฉมที่ออกแววงามมาแต่ครั้งนั้น ท่านไว้ผมเปียนะคะ แต่แทนที่จะทิ้งยาวลงไป ท่านทบขึ้นมาเป็นห่วงแล้วติดกิ๊บ เมื่อถึงชั้นมัธยม 3 ม.ร.ว.สิริกิติ์ เดินทางไปศึกษาต่อยังอังกฤษ ต่อมาหนังสือพิมพ์ลงข่าวการหมั้น ทำให้ดิฉันตื่นเต้นมาก ได้เขียนจดหมายไปหาท่านที่เมืองนอก
ที่นำความปลาบปลื้มมาให้ดิฉันมากกว่านั้นคือ ทรงตอบจดหมายมาถึงดิฉัน ข้อความในจดหมายแสดงถึงความสนิทสนมไม่เคยลืมเพื่อน ท่านตอบมาว่าปรียา อย่าลืมเขียนมาหาฉันอีกนะ ลายมือท่านสวยกว่าลายมือดิฉันมาก
เพื่อนๆ ได้พบท่านอีกครั้ง เมื่อท่านกลับเมืองไทย ก็มีรับสั่งให้เฝ้าฯที่วังเทเวศร์ ตอนนั้นดีใจมาก ไม่ได้พบกันมาตั้งนาน ทูลถามว่าเกิดเจอกันบนถนนจะจำได้ไหม เพราะไม่ได้พบกันหลายปีแล้ว ท่านบอกว่า “จำได้สิจ๊ะ สุพร”
สิ่งหนึ่งที่ชาวเซนต์ฟรังฯ รุ่นพระสหายซาบซึ้งกันดีก็คือ น้ำพระทัยเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนๆ ทุกคน ทรงถามทุกข์สุข มีเพื่อนคนหนึ่งที่เข้าเฝ้าฯ ดูหน้าตาซีดๆ ท่านรับสั่งถามว่าเป็นอะไร เมื่อทรงทราบว่าไม่สบาย วันต่อมาทรงให้ท่านผู้หญิงกรัณย์ สนิทวงศ์ มาติดต่อดิฉัน ถามบ้านเขาอยู่ไหน แล้วท่านก็ทรงเลี้ยงดูและให้เงินเดือนถึงทุกวันนี้
อย่างมาสเซอร์แอสเตอร์ ท่านพระราชทานเงินเดือนให้เดือนละ 5,000 บาท เพราะทราบว่าเป็นเบาหวาน ต้องตัดขา และทรงรับไว้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ให้ข้าหลวงในวังไปเยี่ยมเสมอ หลังมาสเซอร์แอสเตอร์สิ้น มาสเซอร์เรอเน่ชรามาก ท่านพระราชทานเงินให้เดือนละ 5,000 บาทเหมือนกัน
มีเพื่อนคนหนึ่ง ก่อนหน้านี้รับเงินเดือนละ 3,000 บาท ปีที่แล้วทรงขึ้นให้เป็น 5,000 บาท ก็เพราะไอเอ็มเอฟไงคะ อย่างเพื่อนอีกคนหนึ่งมีปัญหา ท่านก็พระราชทานเงินให้ตั้ง 4,000 บาท หรืออย่างบ้านไฟไหม้ท่านก็ให้เงินปลูกบ้านไม่เคยมีใครไปขอท่านเลย ทรงห่วงใย ทรงมีน้ำพระทัยด้วยพระองค์เอง
น้ำพระทัยนี้ พระสหายร่วมรุ่นอีกคนหากยังมีชีวิตอยู่ จะบอกได้ดีคือ คุณบรรจง ธันวานนท์ เมื่อทรงทราบว่าคุณบรรจงล้มป่วย ทรงห่วงใยพระราชทานความเมตตามากมาย ทรงบันทึกเทปธรรมะด้วยพระสุรเสียงพระราชทานแก่คุณบรรจงซึ่งเธอก็เปิดฟังอยู่ข้างหมอนจนวาระสุดท้าย
ฉลองพระองค์ชุดโจงกระเบน “สมเด็จพระนางเจ้าฯ”
สำหรับหนังสือ “ใกล้เบื้องพระยุคลบาท” กับ “ลัดดาซุบซิบ” นอกจากจะมีเกร็ด พระราชประวัติ พระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ 9 ทุกพระองค์แล้ว ช่วงท้ายเล่ม ยังเป็นช่วง “ปุจฉา วิสัชนา” พระราชจริยวัตร และพระจริยวัตร อีกด้วย ซึ่งมีหลายคำถามที่น่าสนใจ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอคัดสรรเผยแพร่
“กรรณิการ์ กรมชลประทาน” ได้ถามว่า เห็นข่าวโทรทัศน์ จะเห็นได้ว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทางภาคเหนือ โปรดฉลองพระองค์ชุดกระโปรงเหมือนชุดโจงกระเบน ไม่ทราบชุดนี้มีความเป็นมาอย่างไร…
ฉลองพระองค์ชุดโจงกระเบนนี้โปรดใช้มาหลายปีแล้ว สืบเนื่องจากเวลาเสด็จฯ เยี่ยมชาวแม้วและชาวเขาหลายเผ่าตามชนบท ราษฎรกลุ่มนี้เคยนำกางเกงชาวเขาตัดเย็บด้วยผ้าชาวเขามาถวาย เพื่อให้ทรงลองใช้
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงนำกลับมาให้ ธีระพันธ์ วรรณรัตน์ พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ และ นคร สัมพันธารักษ์ ซึ่งเป็นช่างฉลองพระองค์ตัดถวายอย่างประยุกต์ด้วยผ้าที่เหมาะสม แบบสนับเพลาหลวมๆ สบายๆ ไม่รัดรูป
เมื่อทรงฉลองพระองค์ชุดใหม่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวแม้ว ชาวเขาอีกครั้งหนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นเขาเหล่านั้นต่างพากันยินดี และต่างชี้ชวนให้ดูแม่หลวงแต่งตัวเหมือนพวกเขาอย่างปลาบปลื้มกันมาก
สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงเผชิญภัยสงครามโลกครั้งที่ 2
“ขอทราบถึงพระราชประวัติสั้นๆ อันเกี่ยวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2”
“ประกายฟ้า”
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และพระนครถูกโจมตีทางอากาศบ่อยๆ ทำให้คมนาคมขาดความสะดวกและปลอดภัย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครั้งยังเป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ได้ย้ายโรงเรียนจากราชินี(ล่าง) ไปเรียนต่อที่เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ และได้รับการอบรมให้รู้จักสภาพความเป็นอยู่ของชีวิตที่แท้จริง จึงเดินทางจากบ้านเลขที่ 8 ถนนกรุงเกษม เทเวศร์ ด้วยรถรางชั้นที่ 2 มีมหาดเล็กหรือข้าหลวงใหญ่ของท่านพ่อครั้งยังเป็นหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ตามไปรับส่งตลอดเวลา เมื่อผู้โดยสารแน่นมากขึ้น จึงเลื่อนไปนั่งชั้นที่ 1 แต่ในที่สุดเมื่อมีทหารต่างด้าว เช่น ญี่ปุ่นขึ้นแออัดมากขึ้นทุกที ท่านผู้ปกครองจึงให้เลิกนั่งรถรางให้เดินไปเรียนแทนโดยมีผู้ไปรับส่งเช่นเคย
ตอนเย็นเมื่อหมดชั่วโมงเรียนแล้วต้องอยู่เรียนเปียโนพิเศษต่ออีก กว่าจะได้กลับถึงบ้านก็ร่วม 17.00 น. ทั้งหน้าตาและเนื้อตัวมีเหงื่อไคลย้อยมอมแมมไปหมด
ในราวปี พ.ศ.2487-2488 ได้มีการทิ้งระเบิดในพระนครหนักขึ้น ประจวบกับ ม.ล.บัว กิติยากร ได้ล้มป่วยลง ไม่สามารถทนอยู่บ้านเดิมซึ่งใกล้สถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ จึงพา ม.ร.ว.สิริกิติ์ กับ ม.ร.ว.บุษบา ย้ายไปอยู่บ้านของ ม.ล.จินดา สนิทวงศ์ ที่ตำบลบางซ่อน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่บังเอิญไปประสบการทิ้งระเบิดทำลายสะพานพระราม 6 เข้า ทำให้บ้านที่พักอาศัยถูกเพลิงไหม้หมดทั้งหลัง ม.ร.ว.สิริกิติ์ และประยูรญาติ ต้องลงเรือนหลบภัยไปอยู่ในคลอง จนกระทั่งเหตุการณ์สงบลง จึงได้พาคืนมาที่วังเทเวศร์ บ้านเดิมในพระนคร ส่วนหม่อมเจ้านักขัตรมงคลนั้นไม่ได้ทรงอพยพไปไหนเลยคงประทับกับบุตรชายทั้ง 2 ดูแลรักษาบ้านอยู่ตลอดเวลา
เพลงสากล และดอกไม้ ที่ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ” โปรด
“จิรัสามร” ถามว่า ขอทราบเพลงสากลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรด
คำตอบนี้ “ลัดดา” ได้จาก เทวัญ ทรัพย์แสนยากร นักดนตรีผู้ยิ่งยงทางแซกโซโฟนและมีทรงผมไม่เหมือนใคร เพลงนั้นคือ “BRIDGE OVER TROUBLE WATER” หลังจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้าร่วมงาน พระราชทานงานเลี้ยง ณ ศาลาดุสิดาลัย เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม และเขาได้เล่นเพลงนี้ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นเพลงแรก
“ศิริญญา” ถาม – สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดดอกไม้ชนิดไหนมากที่สุด
โปรดดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมทุกชนิด ยกเว้นดอกชมนาด
ขอบคุณ เนื้อหา – หนังสือ “ใกล้เบื้องพระยุคลบาท” กับ “ลัดดาซุบซิบ” และ ภาพประกอบ หนังสือ ไฮ แมกกาซีน ฉบับพิเศษ 12 สิงหาคม 2547 พระราชินี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชประวัติ และ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
ต้องการซื้อ-เช่า !!!คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่
ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินกับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย