เลิกเหนียมแล้วสำหรับปฏิบัติการยื้อ ทำให้กฎหมายใหม่ “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ส่อแท้งซ้ำรอยเดิม เพราะแม้ “สนช.-สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ไม่ได้โดดขวางหรือเตะสกัดแบบออกนอกหน้า แต่แนวทางประเมินมาจากหลายทิศทาง ทั้งคำให้สัมภาษณ์ของทั่นประธานที่เคารพ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ควบคู่กับการขอยืดเดดไลน์เป็นครั้งที่ 8 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมหมดเวลาในเดือนกรกฎาคม 2561 มีผลเลื่อนเป็นสิ้นเดือนกันยายน 2561 แทนทำสถิตินิวไฮที่มีการขอต่ออายุการพิจารณาถึง 8 ครั้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เลือกตั้ง เจอโรคเลื่อน 3 ปีซ้อน
ร่างกฎหมายใหม่มีต้นทางมาจากการยุบรวมกฎหมายล้าสมัย 2 ฉบับคือ “กฎหมายภาษีโรงเรือน-กฎหมายภาษีบำรุงท้องที่” แล้วรวมเป็นหนึ่งภายใต้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รู้จักในอีกชื่อว่ากฎหมายทรัพย์สิน หรือพร็อพเพอร์ตี้แทกซ์ (Property Tax) หลักการใหญ่รัฐบาล คสช.มีถ้อยแถลงออกมาว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการจ่ายภาษีสำหรับผู้ถือครองทรัพย์สิน
นั่นหมายความว่า ใครที่ไม่ต้องการจ่ายภาษีตัวนี้ก็ไม่ต้องถือครองหรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั่นเอง อะไรคือ “ลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้ถือครองทรัพย์สิน” คำอธิบายรวบรัดคือ กฎหมายเดิมทั้งภาษีบำรุงท้องที่กับภาษีโรงเรือนไม่เป็นธรรม ที่ดินแปลงติดกันเศรษฐีปลูกบ้าน 100 ล้าน อยู่อาศัยไม่ต้องจ่ายภาษีโรงเรือน แต่ยาจกปลูบ้านหลังเล็กราคา 1 ล้าน และปลูกห้องแถวให้คนเช่า ยาจกมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องเสียภาษีเพราะมีรายได้ค่าเช่า
ทั้ง ๆ ที่ราคาทรัพย์แตกต่างกันลิบลับ เศรษฐีปลูกบ้านร้อยล้านไม่ต้องเสียภาษี ยาจกปลูกบ้านหลังเล็กแต่ดันทำบ้านเช่าเพื่อหารายได้กลายเป็นต้องจ่ายภาษีกฎหมายใหม่ถ้าบังคับใช้ ยกเลิกหลักการภาษีโรงเรือน แล้วบังคับให้ทุกคนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินมีหน้าที่จ่ายภาษี ถ้าทรัพย์สินราคาสูงก็จ่ายภาษีมากกว่า ถ้าทรัพย์สินราคาถูกกว่าก็จ่ายภาษีน้อยลงตามส่วน
ในข้อเท็จจริง ภาษีที่ดินฯ มีความพยายามผลักดันตั้งแต่ยุครัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อปี 2537 แต่ไม่เคยสำเร็จ ในยุครัฐบาล คสช. เริ่มต้นสวยหรู แต่ก็เจอโรคเลื่อนที่ออกมาประกาศว่า จะเร่งรัดผลักดันให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2561, เลื่อนเป็นเดดไลน์วันที่ 1 มกราคม 2562 ล่าสุดคือแบะท่าอาจต้องเลื่อนเป็นวันที่ 1 มกราคม 2563
การเมืองลดความเหลื่อมล้ำ
คำถามระงม เกิดอะไรขึ้นระหว่างทางของการผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินฯ สำหรับคอการเมืองมองด้วยตาเปล่าก็เห็นเหตุผลเรื่องการนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 ว่าที่รัฐบาลใหม่แขวนอนาคตไว้กับกฎหมายภาษีที่ดินฯโดยอัตโนมัติ เพราะถ้าออกมาบังคับใช้ มู้ดคนชั้นกลางที่จะเดินเข้าคูหากาเลือกตั้งคงไม่เอ็นจอยแน่นอน หนทางที่จะให้มีกฎหมายภาษีที่ดินฯ ออกมาบังคับใช้ก่อนเลือกตั้งจึงเป็นการแขวนอนาคตบนความเสี่ยงสูงทางการเมือง
“การพิจารณาร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ ไม่น่าจะมีปัญหา อยู่ระหว่างดูให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนจะเลื่อนการบังคับใช้ไปเป็นปี 2563 หรือไม่นั้น ถ้าการพิจารณาของ สนช.ไม่เสร็จจริง ๆ ฟังดูแล้วรัฐบาลน่าจะฟังเสียงประชาชน และฟังเสียงหลังการเลือกตั้ง หรือองค์ประกอบพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งอาจเลื่อนก็ได้ โดยรัฐบาลใหม่ต้องนำมาทบทวน” คำกล่าวให้สัมภาษณ์ของ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช.
ความจริงจะว่าไปแล้ว กฎหมายภาษีที่ดินฯ ไม่ได้ถูกลอยแพทำแท้งฉบับเดียว อาทิ “ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร พ.ศ. …” ว่าด้วยมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน หรือ Transfer Pricing กฎหมายนี้ทางกรมสรรพากรเสนอมา 3 ปีแล้ว
แต่ทำได้แค่บรรจุในวาระที่ 1 ของ สนช.เท่านั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังบอกว่า “…โอกาสไม่ผ่านมีสูง เนื่องจากสมาชิก สนช.บางส่วนมาจากตัวแทนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ มีเครือข่ายบริษัทลูกมากมาย” เป็นการโยนประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือ conflict of interest ของ สนช.ให้อยู่ในสปอตไลต์ของสังคมอีกครั้งหนึ่ง
สนช. 247 คนถือที่ดินหมื่นล้าน
บนความกังขา ทำไมต้องต่ออายุการพิจารณาภาษีที่ดินฯ ถึง 8 ครั้ง และถ้ามีเป้าหมายทำแท้งกฎหมายนี้จริง คงต้องต่ออายุอีกหลายครั้ง ครั้งละ 3 เดือน จนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งใหม่ในปีหน้า ล่าสุด มีดาต้าเบสจากคอลลิเออร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของ สนช. 247 คน พบว่ามีการครอบครองที่ดิน มูลค่ารวมกัน 9,803,618,528 บาท
โดย สนช.ที่ครอบครองที่ดินที่มีมูลค่ามากที่สุดอยู่ที่ 1,197,900,920 บาท และน้อยที่สุดคือ 200,000 บาท ถัวเฉลี่ยคนละ 42,075,616 บาท ขณะเดียวกัน พอร์ตทรัพย์สินของรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยในรัฐบาล คสช. พบว่ารัฐมนตรี 33 คน มีที่ดินรวม 297 แปลง เนื้อที่ 639-1-48.6 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 2,011.11 ล้านบาท โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคู่สมรส ถือครองที่ดิน 5 แปลง เนื้อที่ 26 ไร่ มูลค่า 7.63 ล้านบาท
ขณะที่รัฐมนตรีรายอื่น อาทิ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและคู่สมรส ที่ดิน 9 แปลง กว่า 40 ไร่ มูลค่า 2,172,121 บาท (ที่ดิน 2 ใน 8 แปลงอยู่ในพื้นที่ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี), นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาและคู่สมรส มีที่ดิน 5 แปลง มูลค่า 7,591,000 บาท (อยู่ใน ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 1 แปลง)
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และคู่สมรส ที่ดิน 7 แปลง มูลค่า 3,094,000 บาท (อยู่ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 4 แปลง, อ.เมืองนครราชสีมา 2 แปลง และ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี 1 แปลง)
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์และคู่สมรส มีที่ดิน 4 แปลง เนื้อที่ 30 ไร่ มูลค่า 18,048,200 บาท, นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน มีที่ดิน 2 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ มูลค่า 8,218,000 บาท, นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ มีที่ดิน 7 แปลง เนื้อที่ 97 ไร่ มูลค่า 72,793,750 บาท (ที่ดิน 94 ไร่เศษอยู่ใน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา)
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรมและคู่สมรส มีที่ดิน 6 แปลง มูลค่า 5,715,540 บาท พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงานและคู่สมรส ที่ดิน 15 แปลง 62 ไร่ มูลค่า 30,999,000 บาท (อยู่ใน อ.ปากช่อง 4 แปลง เนื้อที่ 52 ไร่) นายอุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการและคู่สมรส มีที่ดิน 5 แปลง เนื้อที่ 175 ไร่เศษ มูลค่า 18,083,500 บาท (ที่ดินเกือบทั้งหมดอยู่ใน ต.โพนทอง อ.บ้านเช่า จ.ลพบุรี) ฯลฯ
เผือกร้อนสมการลดความเหลื่อมล้ำ เลยถูกโยนให้ไปแก้โจทย์หลังการเลือกตั้ง
ที่มา prachachat.net