การประชุม “ครม.-คณะรัฐมนตรี” นอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 20-21 ส.ค.นี้ ที่ภาคใต้ปักหมุด เวนคืนที่ดิน จังหวัดชุมพร-ระนอง นอกจากแผนพัฒนาและการลงทุนในภาพรวมแล้ว คาดว่าจะมีการนำเสนอความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างการพัฒนาแนวเส้นทางรถไฟสายใหม่ เชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งทะเลอันดามันจากชุมพร-ระนอง สำหรับการคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยว 2 ฝั่งทะเล และเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึกระนอง รองรับการเป็นประตูเศรษฐกิจสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC
รูปจาก ประชาชาติ
ที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ขุนพลเศรษฐกิจรัฐบาล คสช.กำลังเร่งผลักดัน โปรเจ็กต์นี้ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ศึกษาความเหมาะสมของโครงการแล้วเสร็จ หลังจากได้รับโจทย์จากที่ประชุม ครม. และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจส่วนกลางและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เมื่อปี 2559
ปัจจุบันเตรียมประมวลข้อมูลเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา โดยโครงการมีมูลค่าลงทุน 45,844 ล้านบาท แยกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
1.ช่วงก่อนก่อสร้าง จะมีค่าออกแบบ 300 ล้านบาท
2.ช่วงดำเนินการก่อสร้าง 29,222 ล้านบาท มีค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1,640 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 692 ล้านบาท ค่าติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม 29.44 ล้านบาท ค่าปลูกป่าทดแทนและบำรุงรักษา 14.21 ล้านบาท ค่างานโยธา 21,548.16 ล้านบาท ค่างานระบบราง 1,859.12 ล้านบาท ค่างานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม 1,247.71 ล้านบาท ค่างานล้อเลื่อน 2,191.50 ล้านบาท
และ 3.ช่วงระหว่างเปิดบริการ 16,321 ล้านบาท มีค่าดำเนินการให้บริการเดินรถ 9,290.66 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษา 1,894.48 ล้านบาท ค่าติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม 10.53 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษางานปลูกป่าทดแทนตลอดระยะเวลาโครงการ 65.58 ล้านบาท ค่าจัดหาล้อเลื่อนเพิ่มเติม 1,244.74 ล้านบาท และค่าบำรุงรักษาล้อเลื่อน 3,815.36 ล้านบาท
สำหรับแนวเส้นทางอยู่บริเวณพื้นที่ทางใต้ของสถานีรถไฟชุมพร และอยู่ด้านเหนือของสถานีรถไฟแสงแดด ขนานไปกับถนนเพชรเกษม ผ่านพื้นที่เขต อ.เมือง จ.ชุมพร อ.กระบุรี อ.ละอุ่น และ อ.เมือง จ.ระนอง
จนสิ้นสุดโครงการที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกระนอง ระยะทาง 102.79 กม. และจากสถานีท่าเรือระนองจะมีเส้นทางแยก หรือ spur line เข้าสู่เมืองระนอง สิ้นสุดที่สถานีระนอง รวมเป็น 109 กม. มี 9 สถานี
ได้แก่ สถานีขุนกระทิง บ้านนา 1 บ้านนา 2 ปากจั่น กระบุรี บางใหญ่ ละอุ่น ท่าเรือระนอง และระนอง สร้างเป็นรถไฟทางเดี่ยว ขนาดทาง 1 เมตร วิ่งด้วยความเร็ว 160 กม./ชม. และ 120 กม./ชม. ในพื้นที่มีข้อจำกัด เช่น ทางโค้ง ลาดชัน และ 80 กม./ชม. บริเวณสถานี ขนส่งสินค้า ตลอดเส้นทางจะมีทางรถไฟระดับดิน 67.01 กม. ทางยกระดับและสะพานรถไฟ 33.60 กม. และอุโมงค์ 8.40 กม. จำนวน 7 อุโมงค์
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจสรุปได้ว่า โครงการไม่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากมูลค่าของผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการขนส่งสินค้าน้อยกว่ามูลค่าการลงทุนและค่าใช้จ่ายโครงการ ส่งผลให้ผลตอบแทนด้านมูลค่าปัจจุบันสุทธิของโครงการ (NPV) ในระยะเวลา 30 ปี มีค่าน้อยกว่าศูนย์ และผลตอบแทนด้านอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนน้อยกว่า 1 และผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์น้อยกว่า 12%
หากชะลอโครงการออกไปอีก 9 ปี โดยกำหนดเปิดให้บริการในปี 2577 จะทำให้อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการเท่ากับ 12.19% จะมีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ไทม์ไลน์การก่อสร้างจะเริ่มใน 2573 เมื่อผลศึกษาออกมาแบบนี้ ไม่รู้ว่ารัฐบาลทหารจะเร่งให้เร็วขึ้น หรือปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ
ที่มา prachachat.net