กทม.ทะลวงที่ตาบอด การจราจรพื้นที่โซนตะวันออก-ตะวันตก ทุ่ม 2.3 หมื่นล้าน เวนคืนที่ดิน ย่านวิภาวดี พหลโยธิน บางเขน สุขาภิบาล 5 คลองสามวา เกียกกาย พุทธมณฑลสาย 4 เกษตร-นวมินทร์ เสรีไทย บางนา ตัดถนนใหม่ 6-8 เลน สร้างสะพานข้ามเจ้าพระยา เปิดหน้าดินบูมทำเลใหม่ เชื่อมการเดินทางใจกลางเมืองและปริมณฑล
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2561 กทม.มีแผนเร่งรัดก่อสร้างโครงข่ายถนนและสะพานเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะโซนตะวันออกและตะวันตกที่เมืองมีการขยายตัวไปมาก จำเป็นต้องสร้างโครงข่ายใหม่ ๆ รองรับ เนื่องจากปัจจุบันระบบการจราจรส่วนใหญ่จะอยู่ในแนวเหนือและใต้
ลุยสร้าง 5 โครงการ
ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ มี 5 โครงการค่าก่อสร้างรวม 3,794 ล้านบาท เตรียมให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่สำรวจปัญหาอุปสรรค เช่น การจราจร รื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค โดยให้เคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มสร้างจริง เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จตามแผนงานมีกำหนดจะทยอยเสร็จในปี 2563-2564 ประกอบด้วย 1.สะพานข้ามแยก ณ ระนอง ค่าก่อสร้าง 1,346 ล้านบาท ก่อสร้างสะพานยกระดับข้ามแยก 4 ช่องจราจร ความยาว 1.95 กม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการจราจรถนนวงแหวน-รัชดาภิเษก และถนนสายหลัก กำหนดเสร็จปี 2564
2.อุโมงค์ทางลอดรัชดาฯ-ราชพฤกษ์ แนวเส้นทางบริเวณถนนรัชดาภิเษกกับถนนราชพฤกษ์ มีขนาด 4 ช่องจราจร ความยาว 1.5 กม. ค่าก่อสร้าง 924.5 ล้านบาท จะช่วยแก้ปัญหาจุดตัดถนนวงแหวนรัชดาภิเษกและถนนสายหลัก
3.ปรับปรุงถนนสามวาเป็น 4 ช่องจราจรระยะทาง 3.2 กม. ค่าก่อสร้าง 183.55 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของถนนให้รองรับการเจริญเติบโตของชุมชนในพื้นที่เขตมีนบุรีและเขตคลองสามวา
4.ถนนต่อเชื่อมกาญจนาภิเษก-พุทธมณฑลสาย 2 ค่าก่อสร้าง 1,136 ล้านบาทก่อสร้างเป็นถนน 6 ช่องจราจร ระยะทาง 1.5 กม. พร้อมทางยกระดับ 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 1.5 กม. ทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดถนนพุทธมณฑลสาย 2 ขยายสะพานข้ามคลองเป็น 8 ช่องจราจร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรฝั่งธนบุรีให้เชื่อมต่อการจราจรฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ
และ 5.ปรับปรุงถนนศาลาธรรมสพน์จากถนนพุทธมณฑลสาย 2 ถึงถนนทวีวัฒนา ค่าก่อสร้าง 204.40 ล้านบาท จะก่อสร้างถนนขนาด 2-4 ช่องจราจร พร้อมขยายสะพานข้ามคลอง 5 แห่ง เป็นทางลัดเชื่อมพื้นที่กรุงเทพฯกับ นครปฐม และ นนทบุรี อีกทั้งช่วยการจราจรจากถนนบรมราชชนนี และแก้ปัญหาน้ำท่วมบนถนนศาลาธรรมสพน์
“ปีต่อ ๆ ไป กทม.มีแผนจะเวนคืนและก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย สะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง ถนนใหม่ต่อเชื่อมวิภาวดีรังสิต-พหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช-นิมิตรใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้อยู่ที่จะได้รับงบประมาณมาดำเนินการหรือไม่ เพราะบางโครงการต้องขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เช่น สะพานเกียกกาย”
เวนคืน 2.3 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่าในปีงบประมาณ 2562 จะของบฯเวนคืน 23,650 ล้านบาท ก่อสร้างถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ โครงการต่อเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต กับถนนพหลโยธิน 50 วงเงิน 2,000 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2561 ได้ประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนพื้นที่เขตดอนเมืองและเขตบางเขนแล้ว โดยเหลือที่ดินเวนคืนอีก 13 แปลง บริเวณติดกับถนนวิภาวดี เช่น ที่ดินของมหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น ตามแผนจะเริ่มสร้างปี 2562-2564รูปแบบเป็นถนนตัดใหม่ 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 2.8 กม. วงเงิน 3,800 ล้านบาทแยกเป็นค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท ค่าเวนคืน 2,000 ล้านบาท
แนวเส้นทางเริ่มจากถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับอาคารร้านเจ้เล้ง ดอนเมือง จากนั้นตัดผ่านที่ดินบางส่วนของโรงแรมแอร์พอร์ต กรุงเทพ สวิท โฮเทล แล้วตัดตรงถึงถนนพหลโยธินซอย 50 แล้วสร้างสะพานข้ามแยกไปเชื่อมถนนใหม่ที่เชื่อมจากพหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช (ถนนเทพารักษ์)
ในอนาคตจะเชื่อมกับถนนรัตนโกสินทร์สมโภช-นิมิตรใหม่ ซึ่ง กทม.มีแผนจะก่อสร้างในปี 2562 มีระยะทาง 9 กม. วงเงิน 4,300 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 2,500 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท รูปแบบเป็นถนนตัดใหม่ 6 ช่องจราจร มีแนวเขตทาง 45-60 เมตร พร้อมสร้างทางต่างระดับ ช่วงต่อเชื่อมถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก
“พ.ร.ฎ.เวนคืนบังคับใช้แล้ว กำลังสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดว่าจะมีเวนคืนที่ดิน 500 แปลง และสิ่งปลูกสร้างกว่า 300 รายการ จะของบฯปี 2562 เพื่อเวนคืน ตามแผนจะเริ่มสร้างปี 2562-2567 อนาคต กทม.มีแผนจะต่อขยายจากนิมิตรใหม่ถึงคลองเก้า”
เมื่อโครงการสร้างเสร็จจะเป็นโครงข่ายถนนสายหลักในแนวตะวันออก-ตะวันตก แนวถนนจะคู่ขนานไปกับถนนรามอินทราและถนนเกษตร-นวมินทร์ ช่วยกระจายการจราจรจากถนนวิภาวดีรังสิตสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เพิ่มทางเลือกการเดินทางและแก้ปัญหาจราจรพื้นที่ปิดล้อมเขตบางเขน คลองสามวา และหนองจอก
งบฯลงทุนเกียกกายพุ่ง
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะเร่งรัดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย หลังล่าช้ามานาน คาดว่าเงินลงทุนโครงการจะเพิ่มขึ้นจากที่เคยประมาณการไว้ 11,000 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างสะพาน 4,500 ล้านบาท และเวนคืน 6,500 ล้านบาท
เนื่องจากที่ผ่านมา ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นมากเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30% จะส่งผลทำให้ค่าเวนคืนเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท เป็น 9,000 ล้านบาท โดยมีผู้ถูกเวนคืน 874 ราย และสิ่งปลูกสร้าง 405 หลัง หากโครงการยิ่งล่าช้า งบประมาณเวนคืนจะยิ่งเพิ่มขึ้นมาก
รูปแบบโครงการเป็นสะพานยกระดับและถนนต่อเชื่อมยกระดับ 4-6 ช่องจราจร เชื่อมการเดินทาง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีจุดเริ่มต้นอยู่ถนนคู่ขนานทางรถไฟสายใต้ ผ่านโครงการบ้านฉัตรเพชร บ้านบางส่วนของชุมชนสงวนทรัพย์ ซอยจรัญฯ 93/1 ร้านอาหารหัวปลาช่องนนทรี และร้านอาหาร Pier92 แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รัฐสภาแห่งใหม่
ผ่านแยกเกียกกาย เมื่อถึงแยกสะพานแดง แล้วเลี้ยวซ้ายใช้ถนนเลียบทางรถไฟสายเหนือฝั่งตะวันตก หรือถนนกำแพงเพชร 6 แล้วผ่านแยกสะพานดำ ถนนกำแพงเพชร ถนนพหลโยธิน สิ้นสุดบริเวณหมอชิตเก่าที่สวนจตุจักร ระยะทาง 5.9 กม. มีสะพานข้ามแม่น้ำ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 9 แห่ง
“สะพานข้ามเจ้าพระยาอีก 1 โครงการที่น่าจะได้เดินหน้าต่อจากสะพานเกียกกาย คือ สะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง เพราะไม่มีการเวนคืนที่ดิน ใช้เงินลงทุน 837 ล้านบาท เป็นสะพาน 2 ช่องจราจร พร้อมทางเดิน 480 เมตร สร้างบนแนวถนนราชวงศ์ และถนนท่าดินแดง รอของบประมาณปี 2562”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันกำลังเร่งออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินก่อสร้างถนนกาญจนาภิเษก-พุทธมณฑลสาย 4 ใช้เงินเวนคืน 2,150 ล้านบาท ก่อสร้างเป็นถนนตัดใหม่ 4-6 ช่องจราจร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ปัจจุบัน กทม.สร้างช่วงสามแยกไฟฉาย-ถนนกาญจนาภิเษก ระยะทาง 7 กม.เสร็จแล้ว
เร่งเชื่อมเกษตรฯ-บางนา
รวมถึงจะเดินหน้าการก่อสร้างโครงการถนนตามผังเมือง “สาย ช.2” เชื่อมระหว่างเกษตร-นวมินทร์-บางนา ระยะทาง 18.675 กม. วงเงินลงทุน 12,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 8,000 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 4,000 ล้านบาท เป็นถนนตัดใหม่ 8 ช่องจราจร
ปัจจุบันติดเรื่องเวนคืนที่ดินที่ประชาชนบางส่วนคัดค้าน ตั้งเป้าไว้ว่า ปี 2561-2562 จะเริ่มเวนคืน และก่อสร้างปี 2563-2566
แนวเส้นทางเริ่มจากจุดตัดถนนนวมินทร์กับถนนประเสริฐมนูกิจ ลงมาทางทิศใต้ อยู่ระหว่างถนนนวมินทร์ต่อเนื่องกับถนนศรีนครินทร์และถนนกาญจนาภิเษก มีจุดตัดกับถนนสายหลัก ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 351 (เกษตร-นวมินทร์) ถนนเสรีไทย ถนนรามคำแหง ถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ถนนกรุงเทพกรีฑา ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) ถนนอ่อนนุช ถึงถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 และเชื่อมต่อกับถนนบางนา-บางปะกง พาดผ่านพื้นที่เขตบึงกุ่ม บางกะปิ สะพานสูง ประเวศ และพื้นที่ของ จ.สมุทรปราการ ปัจจุบันรอ จ.สมุทรปราการยืนยันให้ใช้พื้นที่ และเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน โดยให้สภา กทม.อนุมัติ
ที่มา prachachat.net