แชร์ขั้นตอนการโอนที่ดินซื้อขายแบบรวดเดียวจบ ทำตามได้จริง

ไม่ว่าจะทำการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบใด เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตกลงซื้อขายกันแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญของขั้นตอนการโอนที่ดินซื้อขาย ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นขึ้นตอนที่จะมีความยุ่งยากหรือปล่า? สับสนว่ามีเอกสารอะไรที่จำเป็นต้องเตรียมบ้าง? ต้องมีค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเท่าไร? และมีขั้นตอนการโอนที่ดินอย่างไรบ้าง บทความนี้จะแนะนำทุกขั้นตอนของการโอนที่ดิน แบบที่โอนครั้งเดียวจบ ทำตามได้จริง

_pic_1_

ขั้นตอนการโอนที่ดินซื้อขาย ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?

สำหรับการเตรียมเอกสารเพื่อเตรียมไปทำเรื่องการโอนที่ดินซื้อขาย สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทบุคคลธรรม และประเภทนิติบุคคล (บริษัท)

การเตรียมเอกสารการโอนที่ดินซื้อขาย สำหรับบุคคลธรรมดา

  • โฉนดที่ดินฉบับจริง
  • บัตรประชาชน พร้อมสำเนา และลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด
  • ทะเบียนบ้าน พร้อมสำเนา และลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด
  • เอกสารการเปลี่ยนชื่อและนามสกุล พร้อมสำเนา และลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด
  • กรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน ต้องมีเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
  • หนังสือมอบอำนาจ (ทด.21)
  • สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด
  • กรณีสมรสแล้ว ต้องมีเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
  • หนังสือให้ความยินยอมให้ขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมบ้าน
  • สำเนาบัตรประชาชนคู่สมรส พร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านคู่สมรส พร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนสมรส
  • กรณีจดทะเบียนสมรสแล้วหย่า ต้องมีสำเนาทะเบียนหย่าเพิ่มเติม

การเตรียมเอกสารการโอนที่ดินซื้อขาย สำหรับนิติบุคคล

  • โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
  • หนังสือรับรองนิติบุคคล ที่มีอายุไม่เกิน 1 เดือน
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
  • สำเนาทะเบียนบ้านของของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
  • หนังสือแสดงตัวอย่างลายมือชื่อกรรมการ
  • กรณีบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน จำกัด ให้มีบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีอายุไม่เกิน 1 เดือน พร้อมรายละเอียดในบัญชีรายชื่อของนิติบุคคลที่สามารถซื้อที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หากผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลต่างด้าว ต้องมีหุ้นไม่ถึงร้อยละ 40 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
  • กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่จดทะเบียนแล้วให้มีแบบรับรองรายการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
  • กรณีที่มีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการ ต้องมีเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
  • หนังสือมอบอำนาจ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาของผู้รับมอบอำนาจ
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ

_pic_2_

การโอนที่ดินซื้อขาย ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายเท่าไร?

  • ค่าคำขอโอนที่ดิน 5 บาท
  • ค่าอากร 5 บาท
  • ค่าพยาน 20 บาท
  • ค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดิน ราคาร้อยละ 2 จากราคาประเมินหรือราคาขาย (ที่ดินราคาประเมิน 1 ล้านบาท เสียค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน 20,000 บาท)
  • ค่าจดจำนอง ร้อยละ 1 จากมูลค่าที่จดจำนอง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับผู้ที่กู้เงินมาจากสถาบันการเงินเพื่อซื้อที่ดิน (มูลค่าจดจำนองที่ดิน 1 ล้านบาท ค่าจดจำนอง 10,000 บาท)
  • ค่าอากรแสตมป์ใบรับ ร้อยละ 0.5 ของราคาซื้อขาย แต่หากราคาประเมินสูงกว่าให้ใช้ราคาประเมินในการคำนวณแทน
  • ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ร้อยละ 3.3 ของราคาซื้อขาย แต่หากราคาประเมินสูงกว่าให้ใช้ราคาประเมินในการคำนวณแทน

ขั้นตอนการโอนที่ดิน เพื่อซื้อขาย

  • ขั้นตอนการโอนที่ดินนั้นมีระยะเวลาไม่นาน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้บริการในกรมที่ดินนั้นด้วย โดยกรมที่ดินก็มีบริการจองคิววันต่อวัน เพื่อลดระยะเวลาการรอคอย
  • กรอกคำขอ พร้อมแนบเอกสารที่ต้องเตรียมมาให้ครบถ้วน
  • นำใบคำขอและเอกสารไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เพื่อตรวจสอบเอกสาร จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้บัตรคิวไปยังฝ่ายชำนาญงาน
  • เมื่อถึงคิว ผู้โอนและผู้รับจะลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ชำนาญงาน
  • เจ้าหน้าที่จะประเมินราคาที่ดิน เพื่อประเมินค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งจะได้รับใบคำนวณค่าใช้จ่ายจากเจ้าหน้าที่หลังคำนวณเสร็จ
  • นำใบคำนวณไปชำระเงินที่ฝ่ายการเงิน โดยจะได้รับใบเสร็จสีฟ้าและสีเหลืองมา ให้นำใบเสร็จสีเหลืองคืนเจ้าหน้าที่ที่เซ็นเอกสาร และนำใบเสร็จสีฟ้าไปถ่ายสำเนาผู้ซื้อ 1 ชุด โดยเก็บตัวจริงไว้ที่ผู้ขาย
  • เจ้าหน้าที่จะพิมพ์โฉนดให้เราตรวจสอบความถูกต้อง หลังจากตรวจสอบเรียบร้อยเสร็จสิ้น จะได้รับโฉนดพร้อมสัญญาซื้อขาย (ท.ด.13) ซึ่งถือว่าเป็นการเสร็จสมบูรณ์

_pic_3_

ค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน เรามักจะเห็นผู้ประกอบการหลายรายที่เสนอโปรโมชั่นฟรีค่าธรรมเนียม ซึ่งก็หมายถึงการค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินซื้อขายทั้งประเภท ค่าโอนที่ดิน ค่าภาษีเฉพาะ และค่าอากรแสตมป์ ซึ่งสามารถตกลงกันได้ระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ว่าจะออกคนละครึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกให้ทั้งหมด ดังนั้นโปรโมชั่นฟรีค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินซื้อขาย ก็เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ดีสำหรับการซื้อบ้านเช่นกัน