DotProperty.co.th

แปลงร่าง BRT เป็นรถรางไฟฟ้า อวสานโปรเจ็กต์หาเสียงนักการเมือง

เป็นที่แน่นอนภายในปีนี้จะปิดฉากโปรเจ็กต์ล้อยาง “BRT-รถประจำทางด่วนพิเศษ” สายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ระยะทาง 15.9 กม. มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท โปรเจ็กต์หาเสียงของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

6 ปีขาดทุนยับพันล้าน

หลังเปิดให้บริการมากว่า 6 ปี นับจากเดือน พ.ค. 2553 แต่ประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด เมื่อจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้า 3 หมื่นคน/วัน แม้จะลดค่าโดยสารจาก 10 บาทเหลือ 5 บาทแล้วก็ตาม

จากข้อมูลของ กทม.ที่ปรากฏ นับจากเปิดบริการมาถึงปัจจุบัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3 หมื่นเที่ยวคน/วัน ขาดทุนร่วม 1 พันล้านบาท จากการที่ “กทม.” ต้องควักเงินงบประมาณอุดหนุนโครงการปีละ 200 กว่าล้านบาท เพื่อจ่ายค่าจ้างให้ “บีทีเอสซี-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” ผู้ติดตั้งระบบ จัดหารถ 25 คัน พร้อมเดินรถให้เป็นระยะเวลา 7 ปี จะสิ้นสุด เม.ย. 2560

ย้อนเวลาสำหรับโครงการนี้ ริเริ่มเมื่อปี 2548 สมัย “ผู้ว่าฯ อภิรักษ์” มี “สามารถ ราชพลสิทธิ์” รองผู้ว่าฯ กทม.ช่วยผลักดัน หลัง “ครม.-คณะรัฐมนตรี” อนุมัติเริ่มสร้างปี 2550 กว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2553 ในระหว่างทางก็ขลุกขลักพอสมควร ทั้งความไม่โปร่งใสในการซื้อรถราคาคันละ 7.5 ล้านบาท ที่ว่ากันว่าแพงหูฉี่ แต่ก็ทู่ซี้จนโครงการเปิดใช้ในที่สุด

แต่ถึงจะฝ่าด่าน “ดีเอสไอ-กรมสอบสวนคดีพิเศษ” ได้สำเร็จ ความชุลมุนยังไม่สิ้นสุด เมื่อเส้นทางที่ใช้คิกออฟโครงการ จาก “ช่องนนทรี-ราชพฤกษ์” ถึงจะกันเลนพิเศษไว้เฉพาะแล้ว แต่ยังมีรถอื่นวิ่งเข้าแทรกตลอดเวลา ที่สำคัญไม่สามารถหลุดพ้นวังวนรถติดบนถนนเส้นนี้ได้

จึงทำให้โครงการไม่เปรี้ยง ! ไม่สามารถตอบสนองความต้องการคนกรุงได้ตรงจุด

สุขุมพันธุ์ชี้ผู้โดยสารหลุดเป้า

“ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์บริพัตร”ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า สาเหตุที่ยกเลิกรถบีอาร์ที เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารน้อย ไม่เป็นไปตามประมาณการที่วางไว้ ทำให้โครงการขาดทุน แนวโน้มจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาเฟส 3 พระราม 3-ท่าพระ ที่จะสร้างในอนาคต แต่ระหว่างนี้จะนำระบบอื่นมาวิ่งทดแทนไปก่อน อยู่ระหว่างศึกษา

“ต้องเปลี่ยนเป็นระบบราง ถึงจะดึงคนใช้บริการได้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3-4 พันคน/ชั่วโมง เพราะจุคนได้มากกว่าและไม่เสียเลนถนน”

ด้าน “มานิต เตชอภิโชค” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) เปิดเผยว่า สัญญาที่จ้างบีทีเอสเดินรถบีอาร์ทีจะหมดเดือน เม.ย.ปี 2560 จะยกเลิกและเปลี่ยนเป็นระบบรางแทน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุป จะใช้รถไฟฟ้ารางเบาขนาดเล็ก (Tram) ที่สามารถวางรางวิ่งร่วมกับรถยนต์บนผิวถนนได้ โดยใช้ระบบแบตเตอรี่และโซลาร์ นอกจากนี้จะปรับให้เชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ช่องนนทรีและตลาดพลูด้วย ส่วนรถบีอาร์ทีมีอยู่กว่า 20 คัน จะนำไปใช้เป็นสวัสดิการข้าราชการ กทม.แทน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางและบรรยากาศการใช้รถบีอาร์ที โดยเริ่มต้นจาก “สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี” ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีถึงสถานีบีอาร์ที จากนั้นซื้อตั๋วโดยสาร ค่าบริการ 5 บาทตลอดสาย เสร็จเรียบร้อยนั่งรอรถประมาณ 10 นาที ได้นั่งรถจากสถานีต้นทาง เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่สถานีราชพฤกษ์

12 สถานีใช้เวลา 30 นาที

เริ่มออกเดินทางจากสถานีสาทรไปตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ผ่านแยกถนนจันทน์ แยกนราราม 3 เลี้ยวขวาเข้าถนนพระราม 3 ลอดใต้สะพานพระราม 9 เข้าสู่ถนนรัชดาภิเษก ขึ้นสะพานพระราม 3 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปสิ้นสุดที่แยกถนนรัชดาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์

จุดจอด 12 สถานีที่สาทร อาคารสงเคราะห์ เทคนิคกรุงเทพ ถนนจันทน์ นราราม 3 วัดด่าน วัดปริวาส วัดดอกไม้ สะพานพระราม 9 เจริญราษฎร์ สะพานพระราม 3 และสิ้นสุดที่สถานีราชพฤกษ์ โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 27 นาที ผู้โดยสารตลอดเส้นทางประมาณ 20-30 คน/เที่ยว

ทั้งนี้สถานีปลายทางจะสามารถเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ “สถานีตลาดพลู” ได้ แต่การเดินทางอาจจะลำบากเล็กน้อย เพราะต้องเดินข้ามทางม้าลาย เนื่องจากยังไม่มีสกายวอล์กต่อเชื่อม หลังจากข้ามทางม้าลายเสร็จก็เดินขึ้นไปบนทางสกายวอล์กของสถานีตลาดพลู ใช้เวลาเดินประมาณ 5 นาที

ขณะที่ขากลับรถจะวิ่งกลับตามแนวเส้นทางเดิม ใช้เวลาประมาณ 34 นาที มีผู้โดยสารตลอดเส้นทางประมาณ 80-90 คน/เที่ยว ค่อนข้างหนาตากว่าตอนขามา อาจจะด้วยจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การจอดรับ-ส่งจึงใช้เวลานานกว่า

ด้านบรรยากาศการเดินทางตลอดเส้นทาง จะมีรถชนิดอื่นวิ่งเข้ามาใช้เลนเดียวกับรถบีอาร์ทีอยู่ตลอดเวลา ทั้งรถยนต์ทั่วไป แท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์ ชวนให้ลุ้นระทึก

นานาทรรศนะจากใจผู้ใช้

ในระหว่างนั่งรถบีอาร์ที ได้สอบถามผู้ใช้บริการ หลังจากที่ กทม.จะยกเลิกโครงการ มีทั้งเสียดายและยกมือเชียร์รถราง

“นายปวริศ ชายทวีป” ชายหนุ่มอายุ 15 ปี บอกว่า หากใช้ระบบรางเข้ามา มองว่าไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะพื้นที่มีจำกัด รวมถึงรถที่วิ่งบนถนนมีขนาดแตกต่างกันมาก จะเสี่ยงในการใช้เกินไป คิดว่าบีอาร์ทีมีความเหมาะสมในการใช้อยู่แล้ว แต่ควรเพิ่มจำนวนเส้นทางและสถานีให้มากกว่านี้

ขณะที่ “นางสาวบุษกร ไทยแท้” อายุ 19 ปี มองว่า ระบบรางอาจจะยุ่งยากไป การก่อสร้างรางใหม่น่าจะใช้เวลาหลายปี ส่งผลทำให้รถติดได้ ระบบบีอาร์ทีที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็ดีอยู่แล้ว

ด้านผู้ใช้บริการรายหนึ่งไม่ขอออกนาม ระบุว่า ระบบนี้ดีอยู่แล้ว เพราะสามารถแชร์ถนนใช้กับรถส่วนตัวที่สามารถวิ่งเข้ามาได้ในเวลาไม่มีรถบีอาร์ทีวิ่งอยู่ ถ้าเป็นระบบรางอาจจะไม่ามารถทำได้ ใช้ต่อไปไม่น่าจะมีอะไร นอกจากนี้หากก่อสร้างรางอาจทำให้เกิดปัญหารถติดได้

นางสมใจ ศรีหิรัญ อายุ 50 ปี กล่าวว่า ใช้ระบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว รวดเร็วดี ถ้าใช้รางก็วิ่งได้เฉพาะรางอย่างเดียว รถอื่นไม่สามารถวิ่งเข้ามาได้ สำหรับในช่วงเวลาที่ไม่มีรถบีอาร์ทีวิ่ง

สอดคล้องกับ นางรัชดา เกตุศักดิ์ อายุ 43 ปี กล่าวว่า ใช้ระบบบีอาร์ทีดีอยู่แล้ว สะดวก รวดเร็ว และค่าบริการก็ไม่แพง คิดว่าน่าจะใช้ระบบนี้ต่อไป

นายวุฒิชัย บุตรพิลา อายุ 19 ปี มองว่า หากเปลี่ยนการเดินทางอาจลำบากกว่านี้ ระบบนี้ที่ใช้อยู่ก็ดีอยู่แล้ว รถไม่ติดในเส้นทาง การบริการก็รวดเร็วดี

นางสาวอรจิรา สาระบูรณ์ อายุ 24 ปี กล่าวว่า เปลี่ยนเป็นระบบรางก็ดีนะ เพื่อป้องกันรถชนิดอื่นวิ่งเข้ามาปะปน โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ มักจะมาวิ่งในเลน ทำให้เกิดอันตรายได้

นางสาวเบญมาศ ทองศรี อายุ 27 ปี บอกว่า ถ้าสามารถทำได้จริงก็เป็นเรื่องที่ดี หากมาตรฐานระบบที่นำมาได้เทียบกับต่างประเทศที่ใช้อยู่ได้ รวมถึงคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนไป นอกจากนี้การนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ย่อมต้องดีกว่าของเดิม ระบบบีอาร์ทีบางครั้งอาจเกิดการขัดข้องบ้าง ส่วนระบบใหม่ดีกว่าระบบเดิมย่อมถือเป็นเรื่องที่ดี

ปิดท้ายที่ผู้ใช้บริการอีกรายที่ขอสงวนชื่อ ที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากผิวจราจรก็คับแคบอยู่แล้ว การก่อสร้างอาจกระทบกับการจราจร ขอให้ยกเลิกไปเลยทั้ง 2 ระบบ เพราะทำให้การจราจรมีปัญหา รถคันอื่นก็วิ่งเข้ามาในเลน ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่ตัดหน้า อาจทำให้เกิดอันตรายได้

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก prachachat.net

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th/