สำหรับท่านใดที่มีที่ดินติดกันแต่กลับมีโฉนดที่ดินเป็นคนละแปลง คงจะปวดหัวและคงจะสงสัยกันว่า มันสามารถทำได้ไหม เราขอตอบเลยว่าทำได้ครับ แต่อาจจะมีขั้นตอนบ้างเล็กน้อยในการดำเนินการ วันนี้ Dotproperty จะพาคุณผู้อ่านทุกท่านไป ดูกันว่า การที่เราจะรวม โฉนดที่ดิน ให้เป็นโฉนดเดียวกันนั้นต้องทำยังไงบ้าง เตรียมพร้อมอะไรบ้าง ไปดูกันเล๊ยยยย
การรวม โฉนดที่ดิน คืออะไร
การรวมโฉนด หรือการรวมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หมายถึง การรังวัดรวมที่ดินจำนวนตั้งแต่สองแปลงขึ้นไปโดยให้มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเป็นแปลงเดียวกัน โดยสามารถติดต่อได้ที่ กรมที่ดิน ใกล้บ้านท่าน และในการรวมโฉนดที่ดินนั้นจะต้องทำการ รังวัดที่ดิน ที่รวมโฉนดกันขึ้นมาใหม่ ส่วนเรื่องการรังวัดที่ดินนั้น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “ทำความรู้จัก การขอรังวัดที่ดินแบ่งแยกรวมหรือสอบเขตที่ดิน และ สิ่งที่ควรทราบ”
โฉนดที่ดินที่จะขอรวม มีข้อกำหนดดังนี้
- ต้องเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทเดียวกันเว้นแต่โฉนดแผนที่กับโฉนดที่ดินให้รวมกันได้
- ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินต้องเหมือนกันทุกฉบับ และยังมีชีวิตอยู่ทุกคน
- ที่ดินต้องติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ในจังหวัดและสำนักงานที่ดินเดียวกัน แม้จะต่างตำบลอำเภอก็ทำได้
การยื่นคำขอ
- ให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ทุกคนยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ ท.ด.9
- กรณีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์อยู่ระหว่างขายฝาก ให้ยื่นคำขอร่วมกัน
ที่ดินที่ขอรวมโฉนดมีภาระผูกพัน
- จะต้องเป็นกรณีที่ภาระผูกพันนั้นๆ ได้จดทะเบียนรวมโฉนดไว้ เช่น จำนองรวมโฉนดขายฝากรวมโฉนด เป็นต้น
- ต้องได้รับความยินยอมจากคู่กรณีทุกฝ่าย คำยินยอมนี้คู่กรณีจะนำตัวมาบันทึกต่อหน้าเจ้าพนักงานหรือจะให้คำยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
- โฉนดที่ดินที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมรวมโฉนดไว้ จะขอรังวัดรวมโฉนดทั้งหมดหรือเพียงบางโฉนดก็ได้
วิธีดำเนินการ
เมื่อรับคำขอแล้ว ให้ส่งช่างรังวัดออกโฉนดรวมให้ใหม่ทั้งคู่ฉบับ ให้หมายเหตุด้วยตัวแดงในโฉนดใหม่ได้รูปแผนที่ว่า ”โฉนดที่ดินฉบับนี้รวมจากโฉนดเดิม คือ โฉนดที่………..ตำบล……….อำเภอ……จังหวัด………………เจ้าพนักงานที่ดิน”
ซึ่งวิธีปฏิบัติดังกล่าวใช้กับโฉนดแบบ น.ส. 4 ก. น.ส. 4 ข. และ น.ส. 4 ค. อันเป็นแบบโฉนดที่จัดทำขึ้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2497) ซึ่งมีรูปแผนที่อยู่ด้านหลังโฉนด เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบโฉนดมีรูปแผนที่ด้านหน้าโฉนด ตามแบบ น.ส. 4 ง. จึงให้พิจารณาปฏิบัติตามความ เหมาะสม ดังนี้
- กรณีที่มีการรวมโฉนดจากโฉนดจำนวนน้อยแปลง ให้หมายเหตุการรวมโฉนดแทรกลงในช่องว่างใต้หรือข้างรูปแผนที่ด้านหน้าโฉนดนั้น แต่ไม่ต้องลงนามเจ้าพนักงานที่ดินกำกับไว้
- กรณีที่มีการรวมโฉนดจากโฉนดจำนวนโฉนดมากแปลง ให้หมายเหตุการรวมโฉนดไว้ในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนด และให้ลงนามเจ้าพนักงานที่ดินกำกับไว้ด้วย
- เมื่อออกโฉนดแปลงรวมแล้ว โฉนดฉบับหลวงของเก่าต้องตัดออกจากเล่ม (การตัดให้มีลิ้นไว้สำหรับปิดโฉนดรายอื่นด้วย) และให้นำโฉนดเก่าฉบับสำนักงานที่ดิน โฉนดเก่าฉบับเจ้าของที่ดิน และสิ่งสำคัญในสารบบยกไปเก็บรวมในสารบบหน้าสำรวจแปลงที่ออกโฉนดใหม่ และหมายเหตุในโฉนดที่ดินเก่าทุกแปลง และสิ่งสำคัญด้วยอักษรสีแดงว่า ”ที่ดินแปลงนี้ได้มีการรวมโฉนดที่ดิน และออกโฉนดไปใหม่แล้วแต่ วันที่…………เดือน……………พ.ศ. ….”
- ในเล่มของโฉนดเก่าที่ตัดออกให้หมายเหตุไว้ให้ทราบด้วยว่า ตัดออกเพราะรวมโฉนดเป็นโฉนดใหม่เลขที่เท่าใด เพื่อค้นหาง่าย
- การใช้เลขโฉนดฉบับที่รวมให้ใช้เลขโฉนดเดิมแปลงใดแปลงหนึ่งก็ได้ ส่วนเลขที่ดิน หน้าสำรวจก็ให้เป็นไปตามโฉนดที่ดินแปลงที่นำเอาเลขโฉนดนั้นมาใช้ ส่วนเลขที่ไม่ได้ใช้เป็นเลขว่างเพื่อใช้สำหรับที่ดินแปลงอื่นต่อไป
- โฉนดที่ดินต่างตำบล อำเภอ เมื่อทำการรวมโฉนดแล้ว สำหรับโฉนดที่ดินแปลงใหม่ ให้ใช้เลขโฉนดของที่ดินส่วนที่อยู่ในเขตตำบลมาก
- รายงานการรวมโฉนดให้กรมที่ดินทราบ
ระเบียบที่ควรรู้เกี่ยวกับการรวมโฉนด
- ขอรวมโฉนดที่ดินโดยโฉนดที่ดินบางแปลงจดทะเบียนภาระจำยอมไว้ บางแปลงไม่ได้จดทะเบียนภารจำยอมไว้ ดำเนินการให้แก่ผู้ขอได้ แต่ก่อนที่จะดำเนินการควรให้ผู้ขอได้รับความยินยอมจากเจ้าของสามยทรัพย์ตามระเบียบ
- การรวมโฉนดที่ดินที่มีบุริมสิทธิ์ติดอยู่กับที่ดินที่ไม่มีบุริมสิทธิ์ ตามมาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ว่าบุริมสิทธิ์ในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ใช้สำหรับเอาราคาอสังหาริมทรัพย์และดอกเบี้ยในราคานั้นและมีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์อันนั้นเท่านั้น ฉะนั้น การที่จะรวมโฉนดที่ดินทั้งสองเข้าด้วยกัน จึงหาทำให้บุริมสิทธิ์เหนือที่ดินโฉนดแปลงหนึ่งครอบไปถึงโฉนดอีกแปลงหนึ่งด้วยไม่ แม้คู่กรณีจะยินยอมก็ตาม ดังนั้น การขอรวมโฉนดในกรณีดังกล่าวย่อมไม่อาจกระทำได้ เว้นแต่จะได้มีการจดทะเบียนเลิกบุริมสิทธิ์เสียก่อน
- การรังวัดรวมโฉนดที่ดินที่มีทางสาธารณประโยชน์ผ่าน เมื่อที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเป็นสาธารณประโยชน์แล้ว ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในส่วนนั้น และไม่มีอำนาจที่จะนำไปรวมเพื่อออกโฉนดที่ดินใหม่ได้ ทางปฏิบัติควรต้องแบ่งหักทางสาธารณประโยชน์เสียก่อนแล้วจึงรวมกับที่ดินแปลงอื่นได้
หากท่านต้องการทราบข้อมูลเชิงลึกมากกว่านี้ สามารถเข้าไปติดตามได้ที่เว็บไซต์ของกรมที่ดิน http://www.dol.go.th/dol/default.aspx