ข้อกำหนดการเปลี่ยนอาคารประเภทอื่น เพื่อใช้ประกอบธุรกิจทางโรงแรม

โรงแรม

โรงแรมณ ปัจจุบันภาคของธุรกิจการ โรงแรม ถือว่าได้รับความนิยมในย่านสถานที่ท่องเที่ยวสูง และยังโตอย่างต่อเนื่องอีกด้วย จะเห็นได้จากการจัดงานแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกโมโตจีพีที่ผ่านมา ไปจนถึงกิจกรรมระดับโลกต่างๆที่ไทยเราเองจะได้เป็นเจ้าภาพในอนาคต อันจะได้ส่งผลต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นการสร้างโอกาศให้กับผู้ที่อยากจะปรับเปลี่ยนอาคารประเภทอื่น นำมาใช้ประกอบธุรกิจทางโรงแรม เพื่อต้อนรับการมาถึงของนักท่องเที่ยวที่กำลังจะหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสายในอนาคต

 

ทำไมถึงต้องทำการขออนุญาตและทำการตรวจสอบอาคารประเภทอื่น ก่อนนำไปประกอบธุรกิจทาง โรงแรม

การนำอาคารประเภทอื่นมาให้บริการที่พักในรูปแบบธุรกิจโรงแรม ลักษณะโครงสร้างอาคารในรูปแบบเดิมอาจจะไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัยแก่การให้บริการต่อผู้มาพักอาศัย จึงเป็นเหตุให้มีการออกกฎกระทรวง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม สามารถแก้ไขปรับปรุงให้มีลักษณะหรือมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารตามที่กฎหมายกำหนดได้

โดยอาคารประเภทอื่นที่จะเปลี่ยนการใช้มาประกอบธุรกิจโรงแรมประเภท 1 และประเภท 2 ตามกฎหมาย จะต้องมีที่ว่างของอาคารไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 ส่วน ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร นั่นหมายความว่าจะต้องมีพื้นที่โล่งแจ้งอันปราศจากสิ่งก่อสร้างปกคลุม เช่น สระว่ายน้ำ สนามเด็กเล่น ลานกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น

 โรงแรม

 

หลักเกณฑ์ควบคุมการดัดแปลงอาคารเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรม

1. อาคารไม่เกิน 2 ชั้น ห้องพักในอาคารหลังเดียวกันไม่เกิน 10 ห้อง

จะต้องมีช่องทางเดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร บันไดกว้างกว่า 0.9 เมตร และระยะห่างตามแนวทางเดินไม่น้อยกว่า 40 เมตรจากจุดที่ไกลที่สุดบนพื้นที่ชั้นนั้น และสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกจรเฉลี่ยได้ไม่ต่ำกว่า 150 กก./ตร.ม. รวมทั้งต้องติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือตามมาตรฐานไว้ชั้นละ 1 เครื่อง และโดยที่ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร

 

2. อาคาร 1 ชั้น ห้องพักในอาคารหลังเดียวกันไม่เกิน 20 ห้อง

ช่องทางเดินในอาคารจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.2 เมตร และสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกจรได้ไม่ต่ำกว่า 200 กก./ตร.ม

 

3. อาคาร 1 ชั้น ห้องพักในอาคารหลังเดียวกันมากว่า 20 ห้อง

ช่องทางเดินของอาคารจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร และสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกจรได้ไม่ต่ำกว่า 200 กก./ตร.ม

 

4. อาคาร 3 ชั้น

หากมีเสา คาน ตง พื้น บันได โครงหลังคา และผนังของอาคารที่ทำด้วยวัสดุไม่ทนไฟ ให้สามารถดัดแปลงและหรือเปลี่ยนการใช้มาประกอบธุรกิจโรงแรมได้ แต่จะต้องติดตั้งระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยเพิ่มเติมทุกชั้นเป็นการทดแทน ได้แก่ ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ระบบไฟส่องสว่างสำรอง ป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟ เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ เป็นต้น

 

5. อาคารตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ต้องมีเงื่อนไขในการป้องกันอัคคีภัยดังต่อไปนี้

  • อาคารตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป เสา คาน ตง พื้น บันได โครงหลังคา และผนังของอาคาร ต้องทําด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุทนไฟ
  • บันไดหนีไฟที่ไม่ใช่บันไดในแนวดิ่งซึ่งมีความเหมาะสมกับพื้นที่ของอาคารแต่ละชั้น เพื่อให้สามารถลําเลียงบุคคลทั้งหมดในอาคารออกนอกอาคารได้ภายในหนึ่งชั่วโมง
  • บันไดหนีไฟภายในอาคารต้องมีผนังทุกด้านโดยรอบที่ทําด้วยวัสดุทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 30 นาที
  • กรณีที่นําบันไดหลักมาเป็นบันไดหนีไฟหรือมีบันไดหนีไฟเพิ่มจากบันไดหลักช่องประตูสู่บันไดหนีไฟต้องเป็นบานเปิดทําด้วยวัสดุทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 60 นาที พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ชนิดที่บังคับให้บานประตูปิดได้เองเพื่อป้องกันควันและเปลวไฟมิให้เข้าสู่บันไดหนีไฟ
  • ต้องมีทางเดินไปยังบันไดหนีไฟโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
  • ต้องมีความลาดชันของบันไดน้อยกว่า 60 องศา

โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงกฎหมายที่ออกมาควบคุมช่วงระยะเวลานึงเท่านั้น ซึ่งเดิมตามกฎกระทรวง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559 นั้นกำหนดให้ในกรณีมีการดัดแปลงอาคารก่อนการขอรับใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคาร จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ภายใน 18 ส.ค. 2561

การแก้ไขโดยกฎกระทรวงฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ทำให้อาคารที่จะต้องมีการดัดแปลงอาคารได้รับการขยายระยะเวลาในการดำเนินการออกไปอีก 3 ปี กล่าวคือต้องได้รับใบรับรองการดัดแปลงอาคารหรือได้รับใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารมาประกอบธุรกิจโรงแรม แล้วแต่กรณี ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2564

 

ที่มา : กรมโยธาธิการและผังเมือง, สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก