DotProperty.co.th

การเร่ง โอนบ้าน หนีมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ อาจมีผลร้ายเพิ่มหนี้เสียทวีคูณ

นับถอยหลัง 1 เม.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คุมเข้มสถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ด้วยการ ลดสัดส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันหรือแอลทีวี โดยมาตรการดังกล่าวกำหนดให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ที่ผ่อนสัญญาแรกไม่เกิน 3 ปี ต้องวางเงินดาวน์ 20% หรือมีมูลค่าแอลทีวีที่ 80% จากเดิมที่วางเงินดาวน์ราว 10% ของมูลค่าหลักประกัน (ราคาบ้าน) สถาบันการเงินก็พร้อมจะปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันการเร่ง โอนบ้าน หนีมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ

การเร่งโอนบ้านหนี มาตรการคุมเข้มสินเชื่อ อาจมีผลร้ายเพิ่มหนี้เสียทวีคูณ

ภาระทางการเงิน จากการวางเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น “เท่าตัว” ดังกล่าว ส่งผลให้ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา หรือทันทีที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ รู้ว่าธปท.จะเข้ามาคุมเข้มการปล่อยสินเชื่ออยู่อาศัย ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ต่างก็เร่ง “ระบายสต็อกที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่” ด้วยการระดมแคมเปญเร่งโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยกันสุดฤทธิ์  โดยยอมที่จะ “หั่นกำไร” หรือ “มาร์จิ้น” ให้บางลง เพื่อแลกกับการระบายสต็อก หรือซัพพลาย ที่เหลืออยู่ในตลาดหลักแสนยูนิต เพราะประเมินว่าหลังมาตรการแอลทีวี บังคับใช้จะทำให้ทั้งยอดการขอสินเชื่อ และยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินว่า ในปี 2562 กรุงเทพฯและปริมณฑล มีซัพพลายเหลือขาย จำนวน 1.33 แสนยูนิต โดยคาดว่าผู้ประกอบการ อสังหาฯจะเร่งระบายสต็อกก่อนมาตรการแอลทีวี ได้ราว 3-4 หมื่นยูนิต หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา พบยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นทุบสถิติ 3 ปีที่ผ่านมา นับจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 โดยมียอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย 9.25 หมื่นหน่วย คิดเป็นเงิน 3.39 แสนล้านบาท

ไม่เพียงในฟากฝั่งของผู้ประกอบการอสังหาฯเท่านั้น ที่อัดแคมเปญเร่งการโอน ในฝั่งของ “สถาบันการเงิน” หลายแห่ง ก็จัดแคมเปญหนุนการปล่อยสินเชื่อในช่วง”โค้งสุดท้าย” ก่อนมาตรการแอลทีวีเช่นกัน ช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงนับเป็น”โอกาสที่ดีที่สุด”ของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ทั้งจากราคาที่อยู่อาศัยที่ต่ำลงจากสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการอสังหาฯมอบให้ ขณะที่ภาระทางการเงินจากสถาบันการเงินยังไม่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเร่งระบายสต็อกอสังหาฯก่อนมาตรการ แอลทีวี ต้องไม่ใช่การ”ปล่อยผี”โดยเฉพาะการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน ที่ธปท.ระบุว่าที่ผ่านมาเริ่มมองเห็นสัญญาณการหย่อนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออสังหาฯของสถาบันการเงิน จนต้องออกมาตรการแอลทีวีมากำกับ ไม่เช่นนั้นแผนของธปท.ที่หวังจะแก้ปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาฯ อาจจะไม่บรรลุอย่างที่หวัง นั่นเพราะดีเดย์ที่กำหนดขึ้น อาจกลายกลับเป็น”ตัวเร่ง”ให้เกิดปัญหาหนี้เสีย

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก