DotProperty.co.th

“สิงห์คู่” ทวารบาลแห่งอำนาจและความเจริญรุ่งเรือง

ฮวงจุ้ย,ฮวงจุ้ยบ้าน

ในศาสตร์ของ ฮวงจุ้ย สัตว์ที่นิยมนำมาใช้เป็นตัวแทนแห่งการปกปักษ์รักษาสถานที่รวมไปถึงกำจัดสิ่งชั่วร้ายด้วยแล้ว “สิงโต” นี่เรียกได้ว่าเป็นอันดับ 1 เลยครับ เพราะด้วยคุณลักษณะที่แข็งแรง ฉลาด ดุร้าย และมีสัญชาตญาณของผู้ล่าอยู่อย่างเต็มเปี่ยม หากใครเคยไปตามอาคารใหญ่ๆ(บางอาคาร) วัดจีน วัดไทย(บางแห่ง) จะเห็นว่ามีสิงโตยืนขนาบข้างซ้ายขวาหน้าประตูทางเข้า วันนี้เราจะมาทำความรู้จักถึงที่มา รวมไปถึงการนำไปใช้ในฮวงจุ้ยว่าต้องทำยังไงบ้าง ไปดูกันครับ

ที่มาขององครักษ์ผู้น่าเกรงขาม


Photo Credit: (c) buddhamuseum

สิงโต ในภาษาจีน เขียนว่า 獅 (shī) อ่านว่า ชี เชื่อกันว่า คำนี้มีรากศัพท์ที่มาจากทางเปอร์เซียคำว่า šer  โดยสิงโตถูกพบครั้งแรกในแผ่นดินจีนเมื่อตอนที่คณะทูตจากตะวันออกกลางนำมาเป็นเครื่องบรรณาการให้กับราชวงศ์ฮั่น ต่อมาเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 6 สิงโตก็ถูกนิยมนำมาใช้เป็นรูปปั้นผู้พิทักษ์สถานที่ ก่อนที่วัฒนธรรมนี้จะแพร่หลายไปทั่วทั้งเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ทิเบต, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี, พม่า, ศรีลังกา, เนปาล, ไทย, กัมพูชา  ทำให้ในปัจจุบันนี้ มีรูปปั้นสิงห์คู่มากมายหลายแบบตามพื้นที่นั้นๆ


Photo Credit: (c) flickr

นอกจากทางเอเชียแล้ว ทางฝั่งตะวันตกอย่างยุโรปเค้าก็มีเหมือนกันนะครับ โดยทางนั้นเค้าเรียกกันว่า “Foo dogs” หรือ “Fu Lions” โดยคำว่า Foo หรือ Fu เนี่ย เป็นการเรียกทับศัพท์คำว่า 佛 (fó) หรือ 福 ( fú) ซึ่งหมายถึง “พระพุทธเจ้า” หรือ “ความเจริญ” ในภาษาจีนครับ กลับกันในทางของประเทศจีน กับไม่เคยมีคำว่า 佛 (fó) หรือ 福 ( fú) นำหน้าคำว่า 獅 (shī) เลยซักครั้ง แถมยังไม่เคยเรียกสิงโตว่าสุนัขอีกด้วยครับ แล้วฝรั่งมันไปเอาคำว่า dog จากไหนกัน !?


Photo Credit: (c) fudogblog.wordpress

มีบางคนได้บอกไว้ว่า การที่ทางฝั่งตะวันตกใช้คำว่า dog น่าจะมาจากทางญี่ปุ่น ซึ่งทางญี่ปุ่นได้เรียกสิงโตเหล่านี้ว่า “Korean Dogs” (狛犬・高麗犬) ในช่วงการขนส่งสินค้าจากจีนผ่านเกาหลีก่อนจะมาญี่ปุ่น แต่บ้างก็ว่า รูปปั้นสิงโตนี้ดูคล้ายกับพันธุ์สุนัขของจีนอย่าง “เชา เชา” ซึ่งชื่อในภาษาจีนหมายถึง สิงโตขนฟูตัวน้อย หรือ “ชิสุ”  ซึ่งเป็นอีกพันธุ์ที่มีความหมายว่า สุนัขสิงโต ก็เลยเรียกสิงโตพวกนี้ว่า dog แทนครับ

ลักษณะของสิงห์คู่และการนำมาใช้ในฮวงจุ้ย

Photo Credit: (c) buddhamuseum

โดยทั่วไป สิงห์คู่มักจะถูกแกะสลักจากหินอ่อนหรือถูกหล่อขึ้นมาจากทองเหลืองไม่ก็เหล็กครับ แต่ในสมัยก่อน ค่าใช้จ่ายในการทำค่อนข้างสูงมากและต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการสร้าง ทำให้สิงห์คู่มักจะถูกใช้ในหมู่เฉพาะคนรวยหรือคนที่มียศถาบรรดาศักดิ์สูงทำให้รูปปั้นสิงห์คู่กลายเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงฐานะทางการเงินของบ้านหลังนั้นไปโดยปริยาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น กระบวนการผลิตก็ง่ายมากขึ้น สามารถผลิตสิงห์คู่ได้เป็นจำนวนมากด้วยวัสดุจากคอนกรีตและเรซิ่น ทำให้คนทั่วไปเริ่มสามารถซื้อหาไว้ที่บ้านได้ และไม่จำกัดเฉพาะในหมู่คนรวยอีกต่อไป

Photo Credit: (c) pinterest

นอกจากนี้ หากต้องการนำรูปปั้นสิงโตมาใช้แล้ว เราจำเป็นที่จะต้องนำมาตั้งเป็นคู่เท่านั้น เพราะทั้ง 2 ตัวนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง หยิน (ตัวเมีย) กับ หยาง (ตัวผู้) โดยสิงโตตัวผู้นั้น เท้าหน้าข้างขวาจะเหยียบลูกบอลผ้าเอาไว้ ส่วนตัวเมียจะมีลักษณะคล้ายกัน ต่างกันตรงที่เท้าซ้ายข้างหน้าจะตะปบลูกสิงโตเอาไว้ ซึ่งเปรียบเมือนกับว่า สิงโตตัวเมียทำหน้าที่ปกป้องคนภายในบ้าน ส่วนสิงโตตัวผู้ทำหน้าที่ปกป้องตัวอาคารครับ ส่วนตำแหน่งการวางสิงห์คู่ จะวางไว้ที่ข้างนอกบริเวณหน้าประตูและหันหน้าออกจากตัวอาคารราวกับเฝ้าสถานที่แห่งนั้นเอาไว้ โดยที่สิงโตตัวผู้จะอยู่ทางด้านขวา(เมื่อมองมุมหันหน้าออกจากอาคาร) ส่วนตัวเมียจะอยู่ทางด้านซ้ายครับ

ที่มา: Wikipedia

แปลและเรียบเรียงโดย: Dot property