DotProperty.co.th

5 สัญญาณอันตราย นายหน้าอสังหาฯ ‘เคมีไม่ตรงกัน’

ในความเคลื่อนไหวและเป็นไปของแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ก็อย่างที่เราพอจะทราบกันดีว่า มันมีขั้นตอน กระบวนการ และข้อจุกจิกปลีกย่อยซับซ้อนมากมายที่รอคอยจะเข้ามาทักทายในทุกระยะ ตั้งแต่ต้นจนจบ (น้อยครั้งนัก ที่คุณจะได้สบายใจแบบไปตัวเปล่าแล้วตีลังกาเข้าอยู่…) และเราก็สนับสนุนให้ผู้อ่านทุกท่านได้เลือกใช้บริการของ ‘นายหน้าอสังหาริมทรัพย์’ มาโดยตลอด เพราะแม้จะยังไม่เป็นที่นิยม แต่สำหรับตลาดอสังหาฯ สากลแล้ว ก็เป็นวิถีพึงปฏิบัติชนิด ‘A Must!’ ที่จะช่วยให้ชีวิตของผู้ซื้อ และผู้ขายเป็นไปได้โดยสะดวก และง่ายขึ้น

Credits: jobssection.com

แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะให้คุณหลับหูหลับตาเลือกสรรหานายหน้าแบบไม่ตรวจสอบที่มาและที่ไป หรือให้ความไว้วางใจแบบไม่กังขาสงสัยอะไรทั้งสิ้น และถ้าคุณตัดสินใจเลือกใช้บริการนายหน้า แต่พบเห็น 5 สัญญาณดังต่อไปนี้ ก็ขอให้ตั้งธงระวังเอาไว้ ว่าความสัมพันธ์เหล่านี้ อาจจะมีปลายทางที่…ไม่สวยนัก

//สัญญาณที่ 1: ถามเรื่องผลตอบแทนก่อนสิ่งอื่นใด

Credits: jeffreyhoguerealtor.com

เราเข้าใจว่าการทำงานใดๆ มันต้องพูดคุยกันเรื่องค่าตอบแทน (เพราะนี่ไม่ใช่องค์กรการกุศล…) แต่ถ้านับตั้งแต่วินาทีแรก สิ่งที่นายหน้าถามคุณกลับเป็นเรื่องค่าตอบแทน ค่าคอมมิสชั่น และผลประโยชน์อื่นๆ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่แตะเรื่องความต้องการของคุณเลย เราก็ขอแนะนำให้เพิ่มความระวังไว้ก่อน เพราะวิสัยอย่าง ‘เงินมา งานเดิน’ นั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่สมควรนักกับอาชีพที่ต้องวางผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญอย่างเช่นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์นี้ (เพราะมันมีแนวโน้มว่า เขาจะจัดคุณไว้ลำดับท้ายๆ ของความสำคัญโดยไม่รู้ตัว)

//สัญญาณที่ 2: อสังหาฯ ที่นำเสนอ ‘เวอร์ และ แพง’

Credits: consumerreports.org

เราไม่ปฏิเสธว่า ของดี มักมีราคาค่างวดอยู่เสมอ อสังหาริมทรัพย์เองก็เช่นกัน มันไม่ใช่เรื่องผิดที่นายหน้าคู่ใจ อาจจะเสนอสินทรัพย์ที่อาจจะแพงขึ้นอีกนิดหนึ่ง ถ้ามันดีจริง มีศักยภาพจริง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคุณ แต่ถ้าทุกอย่างที่นำเสนอออกมามีแต่ความ ‘เวอร์’ และ ‘แพง’ เกินขอบข่ายที่งบประมาณคุณมีไปเสียทุกครั้ง ก็อาจจะได้เวลาที่ต้องพิจารณาแล้วว่า นายหน้าคนนี้อาจจะเคมีไม่ตรงกับเราเท่าไหร่ (หรือคิดในทางเลวร้ายเลยก็คือ เขาพยายามขายของแพงเพื่อคอมมิสชั่นสูงๆ)

//สัญญาณที่ 3: คนวงใน

Credits: mnrealestateguy.com

นายหน้าอสังหาฯ ชั้นเยี่ยมย่อมมีข้อมูลสำคัญที่จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อได้อย่างครบถ้วน ความรู้รอบและรู้กว้างจึงเป็นคุณประโยชน์ชั้นหนึ่งที่ควรมองหา แต่ถ้านายหน้าคนเก่งของคุณนั้น ‘รู้ทะลุ’ แบบผิดปกติเกี่ยวกับอสังหาฯ ที่นำเสนอ (เช่น รู้ไปจนถึงประวัติความเป็นมาเชิงลึกของผู้ขาย) แล้วล่ะก็ พึงระวังไว้ เพราะบางทีเขาอาจจะกำลังเล่นเกมสองทาง ที่ๆ ผู้ขาย ก็คือคนรู้จักหรือคนใกล้ตัวของเขานั่นล่ะ

//สัญญาณที่ 4: กดดันมันเสียทุกเรื่อง

Credits: mainstreet.com

นายหน้าอสังหาริมทรัพย์มีหลายประเภท บางคนสุขุมนุ่มลึก บางคนก็สายอินทรีดุดันชอบการแข่งขัน ก็ถือว่าเป็นสไตล์ที่แตกต่างหลากหลายไม่มีถูกมีผิด แต่ก็หลายครั้งทีเดียว ที่ความกดดันในการซื้อขายได้กลายเป็นยาขมในความสัมพันธ์ระหว่างนายหน้าและผู้เลือกใช้บริการ เพราะการพยายามปิดดีลด้วยเงื่อนไขที่ลูกค้านายหน้าไม่พึงพอใจ (ทั้งประเภทสินทรัพย์ และเงินที่ได้หรือต้องจ่ายออกไป) คงไม่น่าใช่สถานการณ์ที่จะเหลือความประทับใจที่ดีติดกระเป๋ากลับไปเป็นแน่

//สัญญาณที่ 5: นายหน้า ‘นินจาในตำนาน’

Credits: thefutureorganization.com

ข้อนี้สำคัญมากเพราะไม่ว่าการทำธุรกิจแบบใด ความโปร่งใสง่ายต่อการติดต่อสื่อสารพูดคุยย่อมเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนายหน้าอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นของตาย การซื้อขายสินทรัพย์เป็นเรื่องใหญ่ และนายหน้าที่ดีก็ควรที่จะอยู่เพื่อให้คำปรึกษาในจังหวะที่ต้องการ (ตามสมควร) แต่ถ้าติดต่อไปแล้วไม่รับสาย ไปหาก็ไม่ว่าง หรือปิดโทรศัพท์ในจังหวะทำการ เลวร้ายสุดคือหายตัวไปเยี่ยงนินจา คงไม่ใช่สัญญาณความร่วมมือที่สถาพรยั่งยืนน่าชื่นใจเท่าใดนัก

เรายกสัญญาณมาทั้ง 5 ข้อ ไม่ได้มุ่งหมายให้คุณเลิกไว้ใจ และไม่ใช้บริการนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ต่อไปอีกตลอดกาล เรายังคงยืนยันคำสัตย์ ว่าการใช้บริการนายหน้า ช่วยคุณประหยัดเวลาในธุรกรรมได้อีกมาก แต่ก็เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ใดๆ ที่พึงมีและพึงเป็น แม้มันจะดูดีสักเพียงใด ถ้าเคมีมันไม่ใช่ จะเหนี่ยวรั้งหรือฝืนต่อไปก็น่าจะเจ็บปวดกันทั้งสองฝ่าย….ในปลายทาง