ในยุคปัจจุบัน แวดวงอสังหาริมทรัพย์นั้นดูเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด (แม้ว่ามันจะมีบางส่วนที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านก็ตาม) บวกกับการเข้ามาของเทคโนโลยี Mobile ที่ช่วยให้อะไรๆ มันดูสะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้นกว่าเดิม
แต่ในแง่หนึ่ง แวดวงอสังหาฯ ก็ยังคงมีกติกา และข้อปลีกย่อยที่หลายท่านอาจจะพลาดหรือมองข้ามมันไป และอาจจะทำให้เกิดการเสียโอกาสอันดี และพลาดจังหวะนาทีทองที่ควรจะได้รับจากธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ เนื่องด้วยข้อเข้าใจผิดที่เราจะขอหยิบยกมาห้าประการดังต่อไปนี้
-เข้าใจผิดข้อที่หนึ่ง: ข้อมูลในอินเตอร์เน็ทมีอยู่มากมาย ทำเอาเองง่ายกว่า
ข้อมูลมากมาย ค้นหาก็ง่าย จะทางไหนก็ได้ เว็บไซต์ Mobile กระดานข่าว มันไม่จำเป็นอีกแล้วที่จะต้องพึ่งพิงกับนายหน้า หรือตัวแทนคนกลาง ที่ไม่รู้ว่าเราในฐานะคนซื้อขายจะโดนชาร์จค่าบริการที่ไม่จำเป็นอีกไม่รู้เท่าไหร่
ความเป็นจริง: คุณอาจจะประหยัดค่าบริการที่ต้องเสียให้กับนายหน้า แม้จะหาข้อมูลได้จากหน้าอินเตอร์เน็ท แต่คุณลืมไปแล้วหรือว่า ธุรกรรมด้านอสังหาฯ นั้น นับเป็นอะไรที่ยุ่งยากมากเป็นลำดับต้นๆ เกี่ยวข้องกับเอกสารทางราชการมากมายร้อยแปด ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าแม่นในประเด็นเหล่านี้ ทางที่ดี ติดต่อมืออาชีพมาช่วยให้ชีวิตมันง่ายขึ้นจะดีกว่า
-เข้าใจผิดข้อที่สอง: เก็บออมเงินดาวน์แค่ขั้นต่ำ 20% ก็พอแล้ว
บ้านและที่อยู่อาศัยทำเลดีๆ มันไม่ได้มีเข้ามาได้ทุกวัน ไหนจะราคาที่ถีบตัวสูงขึ้น ถ้ามัวแต่เก็บเงินให้มากที่สุด ก็คงไปไม่ถึงฝั่งฝันเสียที อย่ากระนั้นเลย เอาแค่เบาะๆ 20% ของเงินดาวน์ แล้วไปวัดใจกับตอนผ่อนสินเชื่อทีหลัง
ความเป็นจริง: เงินดาวน์ 20% คือ ‘ขั้นต่ำ’ ที่ธนาคารพาณิชย์จะยอมอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงต้องได้รับการตรวจสอบความน่าเชื่อถือทางการเงินอีกหลายขั้นตอนถ้าคุณคิดจะเล่นทางสายนี้ และแม้ว่าธนาคารหลายแห่งจะออกโปรโมชั่นพิเศษเช่นกู้ได้เต็มจำนวน เงินดาวน์ศูนย์ แต่โปรดอ่านเงื่อนไขและสำรวจความพร้อมแต่เนิ่นๆ ถ้าไม่อยากเจอสภาวะ ‘ช็อตกลางอากาศ’
-เข้าใจผิดข้อที่สาม: มูลค่าของอสังหาฯ ขึ้นกับราคาที่ได้รับการประเมิน
การประเมินมูลค่าทรัพย์สิน คือขั้นตอนสำคัญสำหรับธุรกรรมการซื้อขาย ที่ๆ ตัวแทนจากทางธนาคารจะเข้ามาตรวจสอบ วิเคราะห์ และประเมินมูลค่าจากสิ่งที่เป็น ด้วยมาตรฐานการตรวจสอบและประเมินที่เชื่อถือได้ ไม่มีเหตุผลใดที่จะมองเป็นอื่น
ความเป็นจริง: การประเมินสินทรัพย์อสังหาฯ ของธนาคารพาณิชย์ โดยมากแล้วมักจะประเมิน ‘ต่ำ’ กว่าราคากลางของตลาดอยู่เสมอ (นั่นเป็นเหตุผลที่สินเชื่อที่ถูกอนุมัติมีจำนวนที่ต่ำกว่าที่ต้องการในหลายกรณี) ดังนั้นแล้ว คุณในฐานะผู้ซื้อหรือผู้ขาย ต้องหาตัวเลือกหลายๆ ทางมาเปรียบเทียบ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อย่ายึดติดกับการประเมินเพียงครั้งหรือสองครั้ง
-เรื่องเข้าใจผิดข้อที่สี่: การขายอสังหาฯ มีช่วงเวลาของมัน
ช่วง Low Season และ High Season นั้น แทบจะเป็นของสามัญคู่กับโลกของการซื้อมาขายไป จังหวะไหนควรซื้อ จังหวะไหนควรขาย มีรูปแบบที่ค่อนข้างแน่นอน เช่นนั้นแล้ว อสังหาฯ ก็อาจจะไม่ต่างกัน เศรษฐกิจดี ขายออกง่าย เศรษฐกิจร้าย นั่งรอกันไปก่อน
ความเป็นจริง: แม้จะเป็นหลักปฏิบัติที่เห็นๆ กันอยู่ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีช่องว่างสำหรับข้อยกเว้น จำไว้ว่า อสังหาฯ หรือสินทรัพย์ที่มีความต้องการโดยตลอด (เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่) ถ้าสินทรัพย์ของคุณมีดี เวลา จังหวะ หรือฤดูไหนก็ไม่สำคัญ มันขายออกแน่ๆ แต่อยู่แค่ว่า เมื่อใดเท่านั้น
-เข้าใจผิดข้อที่ห้า: ไม่จำเป็นเข้าไปเห็นสถานที่จริง
เทคโนโลยีที่ก้าวไกล ช่วยให้การติดต่อสื่อสารสามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วและ ‘ล้ำ’ มากขึ้น เราคุ้นเคยกับ Video Call หรือการประชุมทางไกลที่สามารถเห็นหน้าได้แม้อยู่คนละซีกโลก เช่นนั้น มันคงไม่จำเป็นที่อสังหาริมทรัพย์จะต้องมีกระบวนการไปดูถึงสถานที่จริงอีกต่อไป
Credits: therealestatetrainer.com
ความเป็นจริง: คุณไม่ได้ซื้ออสังหาฯ เพื่อมานั่งจ้องมองแต่เพื่ออยู่อาศัย และคุณไม่ได้กะขายเล่นแบบขำๆ ได้ไม่ได้ช่างมัน ขั้นตอนแบบตาต่อตา ใจถึงใจ พูดคุยกันแบบเห็นหน้า ยังเป็นกระบวนการสำคัญของการซื้อขายอสังหาฯ ที่ไม่อาจปล่อยปละละเลย (และเชื่อเถอะว่า ต่อให้เทคโนโลยีมันก้าวล้ำชนิดที่มีโลก Virtual Reality มันก็ยังทดแทนสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ดี…)
ย้ำอีกครั้งว่า เทคโนโลยี มาพร้อมกับความสะดวกสบาย และขยายขอบเขตของแวดวงต่างๆ ออกไปอย่างสร้างสรรค์ แวดวงอสังหาฯ เองก็ต้องน้อมรับวิถีทางดังกล่าว ไม่ช้าก็เร็ว แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะปล่อยปละสิ่งต่างๆ ได้อย่างนอนใจ สำรวจตัวเองให้พร้อม และอุดช่องโหว่เหล่านี้เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งสงสัยในภายหลังว่า…เพราะอะไร