DotProperty.co.th

7 สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่พื้นที่สาธารณะต้องมี

เราได้เห็นข่าวคราวของการเรียกร้องสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการโดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะกันมายาวนาน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ค่อยเห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสักเท่าใดนัก ทั้งที่เราควรมีการส่งเสริมให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตนเองได้แม้จะอยู่ตามลำพังในที่สาธารณะก็ตามอย่างเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ

ดังนั้นวันนี้ดอทจึงนำเอาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานซึ่งเราได้เห็นในกรุงเทพบ้างแล้วบางแห่งแต่ยังไม่ค่อยแพร่หลายนี้มาให้รู้จักกันครับ

ทางลาด

สำหรับคนที่ต้องนั่งรถเข็น ไม่สะดวกกับพื้นที่ต่างระดับนั้น ทางลาดนับเป็นตัวช่วยที่ตอบโจทย์อย่างมากทีเดียวแต่การสร้างทางลาดต้องมีการออกแบบระดับองศาของการลาดเอียง ความกว้าง และพื้นผิวไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ และควรมีราวกั้นในระดับที่เหมาะสมป้องกันเอาไว้ด้วย โดยราวกั้นนี้สามารถใช้ได้ทั้งกันการลื่นตกและใช้พยุงตัวก็ได้

ทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา

ปัญหาในเรื่องของทางเท้านั้นเป็นปัญหาที่เรียกว่ายาวนานอย่างมากเพราะนอกจากจะวางแผ่นทางเท้าสำหรับคนตาบอดอย่งผิดที่ผิดทางแล้ว ยังมีสิ่งกีดขวางมากมายปรากฎอยู่เรียกว่าใช้ไม่ได้จริง นับว่าเป็นทางเท้าที่ค่อนข้างน่ากลัวมากทีเดียว โดยทางเท้าสำหรับคนตาบอดนั้นจะมีรอยปุ่มนูนขึ้นมาให้สามารถสัมผัสได้เลยทำให้สามารถเดินไปตามทางได้สะดวกมากขึ้นแม้มองไม่เห็นก็ตาม

บันไดเลื่อนสำหรับคนพิการ

การขึ้นบันไดสำหรับผู้พิการที่นั่งรถเข็นเรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว แต่ว่าจะหลีกเลี่ยงก็ทำได้ยากเช่นกัน หากไม่มีการติดตั้งบันไดเลื่อนสำหรับคนพิการแล้วการขึ้นบันไดสักครั้งอาจต้องใช้แรงคนช่วยถึง 2 คนเพื่อขึ้นไปถึงชั้นบน ซึ่งความลำบากนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก หากมีบันไดเลื่อนสำหรับคนพิการการขึ้น-ลงต่างชั้นก็ทำได้ง่ายมากขึ้น

ห้องน้ำ

การเข้าห้องน้ำหรือทำธุระส่วนตัวของคนพิการนั้นมีความเสี่ยงในด้านต่างๆ มากกว่าคนทั่วไปอย่างมากเพราะการล้มเพียงครั้งเดียวอาจหมายถึงชีวิตได้เลย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนห้องน้ำให้มีขนาดกว้างขึ้น อ่างล้างมือเตี้ยลง และมีราวจับสำหรับการช่วยพยุงตัวสำหรับการลุก-นั่งเพื่อให้แขนช่วยพยุงหรือใช้ในการบอกทิศทาง จะช่วยให้การช่วยเหลือตัวเองของคนพิการเป็นไปอย่างราบลื่นมากขึ้น

ที่จอดรถ

หลายคนอาจเคยเห็นที่จอดรถคนพิการที่มีอยู่ตามสถานที่ต่างๆ กันมาบ้างแล้ว และอาจเกิดความสงสัยว่าที่จอดรถคนพิการนี้มีความแตกต่างจากที่จอดรถทั่วไปอย่างไรบ้าง

คำตอบคือที่จอดรถสำหรับคนพิการจะมีความกว้างมากกว่าช่องจอดรถสำหรับคนทั่วไปโดยตามกฎหมายได้ระบุไว้ว่า จะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2,400 มิลลิเมตร และมีความยาวไม่น้อยกว่า 6,000 มิลลิเมตร โดยมีการเว้นระยะห่างด้านข้างตัวรถไม่น้อยกว่า 1,000 มิลลิเมตร เพื่อให้คนพิการสามารถขึ้น-ลงหรือเตรียมตัวได้สะดวกมากขึ้น

รถโดยสารสาธารณะ

สำหรับผู้พิการแล้วการเดินทางนั้นเป็นเรื่องที่มีอุปสรรคมากมาย ผู้พิการหลายคนไม่สะดวกจะขับรถด้วยตัวเองทุกครั้งที่ต้องเดินทางแต่เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป จึงควรมีรถโดยสารสาธารณะที่ออกแบบมาเพื่อให้คนพิการใช้บริการได้ อย่างเช่น รถเมล์ชานต่ำ ที่สามารถเทียบกับทางเท้าให้คนพิเการสามารถเข็นรถเข็นหรือใช้ไม้เท้าไม่ต้องพบกับทางต่างระดับนั่นเอง

สัญญาณไฟสำหรับการข้ามถนน

การข้ามถนนเป็นเรื่องที่อันตรายมากทีเดียวโดยเฉพาะกับคนที่มีปัญหาด้านการมองเห็น ดังนั้นการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรที่มีตัวช่วยเพิ่มขึ้นอย่างเช่นการติดเซ็นเซอร์หรือการใช้ปุ่มกดเพื่อแสดงความต้องการข้ามถนนจึงเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับการข้ามถนนของทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือคนทั่วไปก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือคนที่มีร่างกายครบสมบูรณ์ต่างก็มีสิทธิ์ในการใช้ชีวิตที่เท่าเทียมกันจึงควรสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ในแบบที่ตนสะดวกนับเป้นสิทธิอย่างหนึ่งที่ทุกคนควรได้รับ ดังนั้นการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องมีอยู่ในที่สาธารณะ