แม้เวลากำลังจะย่างก้าวเข้าสู่ไตรมาสสอง 2563 แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกยังไม่พ้นจุดวิกฤต เพราะนอกจากพิษเศรษฐกิจและสงครามการค้าที่ทิ้งทวนมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว โลกก็เหมือนเจอกับคลื่นยักษ์สึนามิแบบ Aftershock จากเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ Covid-19
สำหรับผู้ประกอบการและบริษัทอสังหาเอง ช่วงนี้ถือว่าต้องประคับประคองสติไปพร้อมๆ กับการบริหารจัดการอย่างรอบคอบและรัดกุม เพราะนอกจากจะต้องประเมินสถานการณ์ให้แม่นยำแล้ว ยังต้องคอยมองหาช่องทางสำหรับการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อการต่อยอด โอกาสธุรกิจ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง
ย้อนดูบทเรียนการสร้าง โอกาสธุรกิจ จากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา
แม้สถานการณ์ในปี 2563 นี้จะดูเป็นฝันที่ไม่สดใสเท่าไรนักสำหรับผู้ประกอบการ แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ล้วนหวั่นเกรงฝันร้ายจากวิฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 มากกว่า เนื่องจากในช่วงนั้นภาคอสังหาริมทรัพย์เหมือนโดนตบหน้าด้วยพิษเศรษฐกิจและฟองสบู่ไปตามๆกัน อีกทั้งยังถูกตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุจนทำให้เกิดเหตการณ์ฟองสบู่แตกอีกด้วย
เหตุการณ์ที่ถูกจารึกให้เป็นบทเรียนราคาแสนแพงอย่างวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางต้องรับภาระหนี้สินก้อนใหญ่จนสุดท้ายต้องปิดกิจการลง อนุสรณ์ที่เห็นจะชัดที่สุดก็คงจะเป็นโครงการ สาทร ยูนีค ที่เหลือเพียงแต่ภาพตึกร้างให้คนกรุงเทพฯ ได้ระลึกถึงวิกฤตครั้งนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการปรับตัวโอนแอ่นตามกระแสเศรษฐกิจและสามารถก้าวข้ามวิกฤตการณ์มาได้ ก็มีการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส อาทิ บมจ.แอล.พี.เอ็น ที่มีการปรับตัวโดยเลือกขายทรัพย์สิน รวมทั้งที่ดินออกไป เพื่อสร้างกระแสเงินหมุนเวียน นอกจากนั้นยังลดจำนวนพนักงาน และเร่งก่อสร้างโครงการให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อดึงกระแสเงินกลับเข้ามาในบริษัท
ในขณะเดียวกัน บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ บมจ.มั่นคงเคหะการ เลือกใช้กลยุทธ์บ้านสร้างเสร็จก่อนขาย เพื่อเรียกความมั่นใจกลับคืนมาจากลูกค้าในช่วงสถานการณ์อ่อนไหว โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อพร้อมโอน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดภาระดอกเบี้ยของบริษัท
วิกฤตปี 2563 จะสามารถสร้าง โอกาสธุรกิจ ได้หรือไม่?
สถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่า มีทีท่าว่าจะกระทบยาวไปถึงไตรมาสสาม ปี 2563 ซึ่งมีการคาดการณ์ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ตลอดทั้งปี 2563 นี้ว่าจะมีการเหยียบเบรคเปิดตัวโครงการใหม่น้อยลงถึงร้อยละ 50 หรือประมาณ 50,000 – 58,000 หน่วย เห็นได้จากบริษัทอสังหาระดับมหาชนหลายบริษัท เริ่มออกมาผ่อนคันเร่งในการดำเนินการตามแผนธุรกิจปี 2563 ที่ออกมาแถลงในช่วงต้นปีแล้ว สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์และที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน คาดการณ์ว่าจะติดลงถึงร้อยละ 30 หรือประมาณ 78,000 หน่วยเลยทีเดียว (ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ : REIC)
โดยหากพิจารณาจากสินค้าคงเหลือจากปี 2562 ที่ประมาณ 58,0000 หน่วย ประกอบกับการคาดประมาณตัวเลขโครงการใหม่ 50,000 หน่วยในปี 2563 นี้ อาจทำให้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ กลับเข้าสู่ภาวะสมดุลของ Natural Demand ซึ่งประมาณ 1% ของจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ และอาจทำให้การระบายสินค้าคงเหลือในปีต่อๆไปมีสภาพคล่องมากขึ้น
แม้ไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่าปี 2563 จะผ่านพ้นไปอย่างง่ายดาย เนื่องจากประสบคลื่นลมอุปสรรคหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มาตรการกำกับสินเชื่อ ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง การบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และล่าสุดวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นใจและกำลังซื้อของผู้บริโภค เกิดการชะลอตัวของนักลงทุนชาวต่างชาติ ทำให้ผู้ประกอบการต้องลุกขึ้นมาปรับตัวกันขนานใหญ่
7 กลยุทธ์การปรับตัวพลิกวิกฤตสร้าง โอกาสธุรกิจ ปี 2563
- ลดราคาขาย ระบายสินค้า เพื่อสร้างกระแสเงินสด – ความสำคัญลำดับแรกคือต้องรีบสร้างกระแสเงินสดเข้ามาในระบบก่อน ดังเช่นบทเรียนในวิกฤตการณ์ปี 40 ที่หลายบริษัททำแล้วประสบความสำเร็จ
- ปรับกลยุทธ์การตลาด สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ – ความไม่มั่นใจในความปลอดภัย สวัสดิภาพ และสุขภาพ ส่งผลให้ลูกค้าไม่กล้าออกจากบ้าน ดังนั้นการ visit ในสำนักงานขายจึงเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ยากในทันที ดังนั้นหลายบริษัทอสังหามหาชน จึงเริ่มผันตัวเองเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิตอลเต็มรูปแบบด้วยการจองออนไลน์แบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง
- มองหาโอกาสใหม่จากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์จาก COVID-19 – เชื่อว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาส โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไวรัสแพร่ระบาด การทำสินค้าที่ตอบโจทย์ทำเลและความต้องการของกำลังซื้อในกลุ่มนี้ จะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดและโอกาสธุรกิจได้
- ปรับแผนการขาย ออกนโยบายผ่อนปรนเพื่อช่วยลูกค้าในช่วงวิกฤต – แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงแต่ผู้ประกอบการเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับลูกค้าเองก็โดนกันถ้วนหน้า ดังนั้นหากไม่อยากโดนทิ้งใบจอง ขายโอน ควรประนีประนอมลูกค้าด้วยการผ่อนปรนเงินงวดและเงินดาวน์
- ฉวยโอกาสสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง – ความกังวลใจด้านสุขภาพและวิกฤตการณ์นี้ จะยังตราตรึงในใจของลูกค้าไปอีกยาวนาน ในช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสของบริษัทในการสร้างแบรนด์ที่สามารถตอกย้ำความเชื่อมั่น และสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้า
- เลือกเปิดโครงการใหม่ในทำเลศักยภาพแท้จริง เพื่อสร้างกระแสเงินสด และภาพลักษณ์ที่ดี – ในช่วงกำลังซื้อชะลอตัว การเปิดโครงการใหม่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ควรเลือกเปิดในทำเลที่มีความมั่นใจอย่างแท้จริง
- พัฒนาองค์กร เติมความรู้ให้บุคลากร – ช่วงนี้นับเป็นโอกาสทองที่จะพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของบุคลากรในองค์กร ด้วยการส่งเสริมทักษะและการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทางเลือกใหม่ๆในอนาคต
สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิก