เรืออากาศโท สัมพันธ์ ขุทรานนท์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยาน ดอนเมือง (สายปฏิบัติการ) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้ผู้โดยสารและบรรเทาปัญหาการจราจรแออัด ทอท. เตรียมเปิดให้บริการการเดินทางเชื่อมมายังสนามบินโดยผ่านรถไฟฟ้า 2 เส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างคือ
ดอนเมือง เล็งทุ่ม 3 พันล้าน เชื่อมรถไฟฟ้า2สาย แก้ปัญหาการจราจรแออัด
1.รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต บนถนนวิภาวดีรังสิต ที่เปิดให้บริการเดือน ม.ค.2564 โดย ทอท. จะก่อสร้างทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) จากสถานีดอนเมือง เข้ามาภายในสนามบินและ
2.รถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต บนถนนพหลโยธิน ที่จะเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2563 นั้น เตรียมประสานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้เปิดเดินรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อสนามบิน (Airport Bus) สายใหม่ เส้นทางสถานีสะพานใหม่-สนามบินดอนเมือง-สถานีแยก คปอ. วิ่งเป็นวงกลม เหมือนกับรถเมล์สาย A1-A4 ที่วิ่งให้บริการในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในระยะยาวยังมีแนวคิดจะก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสนามบินดอนเมือง โดยสั่งให้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือน หากพบว่าคุ้มค่าจะก่อสร้างต่อไป แต่จะยังไม่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส 3 เพราะอาจจะทำให้แผนลงทุนเฟส 3ล่าช้า
“สนามบินดอนเมืองและรถไฟฟ้าสายสีเขียวบนถนนพหลโยธินมีระยะห่างประมาณ 3 กิโลเมตร หากจะสร้างโมโนเรลเชื่อมคาดว่าจะต้องใช้งบราว 3 พันล้านบาท จะเชื่อมจากบริเวณสถานีแยก คปอ.ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือมายังสนามบินดอนเมือง”
สำหรับแนวเส้นทางขณะนี้มี 2 แนวให้เลือกคือ 1.สร้างผ่านพื้นที่ของกองทัพอากาศ 2.สร้างผ่านพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร คือ ตัดตรงจากบริเวณบิ๊กซีสะพานใหม่มายังถนนวิภาวดีรังสิต โดยหากผลการศึกษาระบุว่าคุ้มค่า จะต้องเลือกแนวเส้นที่ได้ประโยชน์สูงสุดและนัดหารือกับ กับ ทอ. หรือ กทม. เพื่อขอใช้พื้นที่ในการสร้างเสาตอม่อต่อไป
เตรียมวางแผนพัฒนาดอนเมืองเฟส 3
เรืออากาศโทสัมพันธ์ กล่าวว่า ทอท. เตรียมวางแผนพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ หากเห็นชอบจะเริ่มออกแบบรายละเอียด 1 ปี และเปิดประมูลก่อสร้างต่อไป โดยเมื่องานก่อสร้างเฟส3แล้วเสร็จในปี 2566 จะทำให้ดอนเมืองรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคน/ปีเป็น 40 ล้านคน/ปี และหากนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วยจะเพิ่มเป็น 55 ล้านคน/ปี
ทั้งนี้ยอมรับว่าเมื่อเฟส 3 แล้วเสร็จจะเกิดปัญหาความแออัดในการใช้รันเวย์ เพราะไม่สามารถขยายรันเวย์ได้แล้ว สนามบินดอนเมืองจึงเตรียมที่จะหารือร่วมกับสายการบินต่างๆ ให้เตรียมมาตรการแก้ปัญหา ด้วยการเปลี่ยนแบบขนาดเครื่องบินให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่องให้สามารถรองรับจำนวน ผู้โดยสารได้เพียงพอ
ที่มา ข่าวสด