ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างมีผลตอนไหนในปี 63

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เมื่อวันที่ 1 มกราคม นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 กฎหมาย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีผลบังคับใช้แล้ว โดยกระทรวงการคลังยังยืนยันที่จะดูแลให้กฎหมายดังกล่าว มีผลในทางปฏิบัติคือเริ่มเก็บภาษีกับประชาชนที่ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดย ในปีนี้เก็บในเดือนสิงหาคม เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยออกประกาศเลื่อนเก็บภาษีออกไป 4 เดือน เนื่องจากองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น(อปท.) ยังดำเนินการไม่ทัน จาก ปกติทุกปีต้องเก็บภาษีท้องที่ ภาษีโรงเรือน และที่ดิน ในเดือนเมษายน ซึ่งภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างกำหนดให้เก็บในช่วงเวลาดังกล่าว

 

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีผลตอนไหนในปี 63

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นกับการจัดเก็บนั้น มองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ทางกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะแก้ไขให้สามารถเดินหน้ากฎหมาย รวมถึงกำลังทำความเข้าใจกับผู้เสียภาษี เพราะยิ่งใกล้เสียภาษีทำให้เกิดเสียงคัดค้านดังขึ้น โดยในช่วงเดือนมกราคมคาดว่าประกาศหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งในประกาศดังกล่าวจะบอกชัดเจนว่าคอนโดมิเนียม ห้องชุด บ้าน โรงเรือน อาคาร ตึก ตึกแถว หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใด แม้ให้เช่าแต่หากนำไปใช้เป็นที่อยู่อาศัย จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย ทำให้ ผู้มีบ้านหรือคอนโดมิเนียมในมือจำนวนหลายห้อง หลายหลัง ไม่ต้องกังวลเรื่องภาระภาษี เพราะเสียภาษีในอัตราล้านละ 200 บาท ซึ่งเก็บในอัตราที่พักอาศัย จากเดิมเคยกังวลว่ามีบ้านหลังที่ 2 ต้องเสียภาษีในอัตราล้านละ 3,000 บาท ในอัตราเชิงพาณิชย์

เมื่อถามถึงกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมีการพูดคุยและบางส่วนเห็นว่าอาจจะต้องให้มีการออก พ.ร.ก.มาระงับการบังคับใช้กฎหมายไปก่อน และในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายยื่นญัตติเพื่อเสนอออกเป็น พ.ร.ก. นายลวรณ กล่าวว่า คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลและฝ่ายนโยบายว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวหรือไม่ โดยการระงับใช้กฎหมายสามารถออกเป็น พ.ร.ก.มาระงับบังคับใช้กฎหมายได้ แต่ผู้เสนอเข้าสภาต้องเป็นฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีข้อสังเกตคือหาก เป็นกฎหมายทางการเงิน ถ้าไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา ทางรัฐบาลต้องแสดง ความรับผิดชอบ เช่น ลาออก ดังนั้นไม่แน่ใจว่าฝ่ายรัฐบาลจะเห็นด้วยกับแนวคิดของกมธ.หรือไม่ เพราะกฎหมายภาษีที่ดินนั้นออกโดยรัฐบาลชุดนี้ในยุค คสช. และขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มากมายจนถึงขั้นต้องระงับใช้กฎหมาย

“เสียงคัดค้านกฎหมายนี้มีมานานตั้งแต่ร่างกฎหมาย เมื่อกฎหมายผ่าน มีความไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วยและมีเสียงคัดค้าน แต่ยืนยันว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ดี เป็นภาษีที่เก็บบนฐานทรัพย์สิน ซึ่งคนที่มีบ้านหลังที่ 2 มีที่ดินระดับหมื่นล้านบาท แสนล้านบาท ถือว่าเป็นคนมีเงินในระดับหนึ่งสามารถเสียภาษีได้ แม้จะมีข่าวว่ามีบรรดาเศรษฐีที่ดินนำที่ดินไปปลูกมะนาว ปลูกกล้วยเพื่อเลี่ยงภาษี แต่ถ้ากลุ่มนี้มีที่ดินเกษตรเกินกว่า 50 ล้านบาท ต้องเสียภาษีในอัตราเกษตร และกรณีมีที่ดินเป็นพันไร่ หมื่นไร่ ต้องมาดูว่าคุ้มไหมที่จะไปลงทุนปลูกพืชดังกล่าวเพื่อเลี่ยงภาษี” นายลวรณกล่าว และว่า ในการออกกฎหมายกระทรวงการคลังคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปแล้ว โดยคนที่มีบ้านหลังแรก ที่ดินเกษตร จะได้รับการยกเว้นให้ถึง 50 ล้านบาท ส่วนคนที่ไม่เคยเสียภาษี หรือกลุ่มที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ผ่อนปรนให้ทยอยจ่ายภาษี คือ ปีแรกเสีย 25% ปีที่ 2 เสีย 50% ปีที่ 3 เสีย 75% และปีที่ 4 เสีย 100% ของภาระภาษีที่ต้องเสียเพิ่มขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก

อาคารสำนักงานค่าเช่า อาคารสำนักงาน หรูเกรดพรีเมี่ยมไทย ติด 1 ใน 10 ถูกที่สุดในโลก

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก