เทรนด์อสังหาฯ AEC…ต่างชาติถือครองอะไรได้บ้าง…!!

ในโมเมนต์ที่จะลงประกาศขายบ้าน,คอนโด แหม….ใครๆก็อยากจะให้ประกาศของตัวเองออกไปในกลุ่มลูกค้าหลายๆกลุ่ม ทั้งชาวไทยก็ดี ชาวต่างชาติก็ดี แต่ติดตรงที่ว่าหลายๆคนไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบการถือครองในไทย ไม่ทราบชาวต่างชาติสามารถถือครองอสังหาริมทรัพย์ ได้หรือไม่ อย่างไร? เพราะบ้างก็ว่าถือครองได้ บ้างก็ว่าถือครองไม่ได้ หรือบ้างก็ว่าถือครองได้แต่ต้องมีเงื่อนไข ….. แล้วอย่างนี้จะขายให้ต่างชาติได้มั๊ยเนี่ยยย? วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ Dot Property จะนำความรู้เรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติมาฝากค่ะ เพื่อเพิ่มความเป็นมืออาชีพในฐานะผู้ขาย หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับทุกๆท่านไม่มากก็น้อยนะคะ

ที่ดิน

ตามกฏหมายแล้วชาวต่างชาติไม่สามารถถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ แต่จะมีข้อยกเว้นอยู่ เช่น ยื่นในนามของบริษัท (แล้วก็สร้างที่อยู่อาศัยในนั้น) ทั้งนี้ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรี (เนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่) , มีเงินในการลงทุนตั้งแต่ 40 ล้านขึ้นไป แต่ต้องแสดงเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินทุกๆปีเพื่อแสดงว่ายังคงเปิดกิจการอยู่ ดังนั้นชาวต่างชาติหลายๆคนอาจจะเลี่ยงไปใช้วิธีของการเช่าในระยะยาวมากกว่า

ห้องชุด หรือ คอนโดมิเนียม

กฎหมายของบ้านเราให้สิทธิกับชาวต่างชาติในการเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมแบบซื้อขาดค่ะ ผู้ซื้อมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดนั้นๆ เต็มตัว ไม่เหมือนกับเพื่อนบ้านหลายๆประเทศ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ภายในสัดส่วนไม่เกิน 49% ของตึกค่ะ เช่น ทั้งตึกมีทั้งหมด 100 ห้อง ก็สามารถขายให้ชาวต่างชาติรวม 49 ห้องเท่านั้นค่ะ

นอกจากนี้กฎหมายบ้านเรายังอนุญาตให้ชาวต่างชาติสืบทอดการเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมนั้นๆด้วยค่ะ เช่นเมื่อ นาง A ซึ่งถือครองกรรมสิทธิ์ห้องในคอนโดฯ C เสียชีวิตลง นางสาว B ซึ่งเป็นบุตร สามารถสืบทอดความเป็นเจ้าของได้ แต่มีเงื่อนไขว่า นางสาว B จะต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการตรวจสอบตามกฏหมายของการตรวจคนเข้าเมืองด้วยนะคะ