คนไทยผวา…“วิกฤตประปา”กระทบเศรษฐกิจไทย

กลายเป็นปัญหาใหญ่กันไปแล้วสำหรับปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เหลือน้ำใช้การได้จริงเพียงแค่ 566 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 3% ของน้ำใช้การทั้งหมดเท่านั้น และปริมาณน้ำไหลลงอ่างจากกรณีฝนตกเหนือเขื่อนมีแค่ 8.05 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่เขื่อนต้องระบายน้ำออกถึงวันละ 28.04 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในการผลักดันน้ำเค็มและน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค
ครม.จึงมีมติตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ สั่งให้ลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลงเหลือแค่วันละ 18 ล้าน ลบ.ม.เพื่อ “ยืด” ปริมาณน้ำในเขื่อนให้เหลือเพียงพอไปจนกระทั่งถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2558 ซึ่งหากใช้ตามแผนเดิมซึ่งระบายน้ำออกวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. น้ำก็จะหมดเขื่อนไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 นี้ซึ่งการลดการระบายน้ำลงในครั้งนี้เป็นวิธีการสุดท้ายแล้วที่กรมชลประทานจะบริหารจัดการได้ โดยมีความหวังเหลืออยู่เพียงแค่ฝนจะต้องตกลงมาเหนือเขื่อนให้ได้มากที่สุดก่อนที่น้ำจะหมดลง ดังนั้นกรมชลประทานจึงวางแผนที่จะผันน้ำฝั่งตะวันตก ซึ่งปริมาณของ 2 เขื่อนรวมกัน (เขื่อนศรีนครินทร์-วชิราลงกรณ์) มีมากถึง 16,014 ล้าน ลบ.ม. มาใช้โดยระบายผ่านคลองจระเข้สามพัน ลงแม่น้ำท่าจีนแล้วผันเข้าคลองผ่านประตูน้ำผักไห่-เจ้าเจ็ด ลงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณบางไทร เพื่อผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม
ทางด้านนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ยังอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ภัยแล้งเพื่อประเมินผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยจะต้องติดตามว่าจะมีน้ำฝนตกลงมาภายในสิ้นเดือนนี้ หรือต้นเดือนสิงหาคมหรือไม่ หากยังไม่มีน้ำฝนตกลงมา สถานการณ์ภัยแล้งก็คงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ได้ โดยคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ประมาณ 0.1-0.5% เนื่องจากประมาณการเศรษฐกิจปีนี้โตที่ 3% ยังไม่ได้รวมปัจจัยดังกล่าว “หากฝนยังไม่ตกลงมา เราก็คงต้องมาประเมินผลกระทบกันใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร” นายเมธีกล่าว
ขณะที่คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการด้านสินเชื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกร ทั้งขยายเวลาชำระหนี้ออกไปสูงสุด 12 เดือน เพิ่มสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้น และสินเชื่อเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตในระยะยาว วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนคาดว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรกว่า 1 ล้านราย
สำหรับใครที่กังวลว่าจะไม่มีน้ำดื่มเพื่อการบริโภคนั้น สบายใจได้เพราะ นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำดื่มตรา”คริสตัล” และ “ช้าง” กล่าวว่า กำลังการผลิตของโรงงานน้ำดื่มทั้งหมด 9 แห่ง ภายใต้เครือไทยเบฟฯยังไม่ได้รับผลกระทบใด ๆโดยปัจจุบันยังมีจำนวนน้ำที่นำไปผลิตเพียงพอ และทางนิคมที่ตั้งโรงงานเองก็มีมาตรการสำรองน้ำไว้แล้ว
สอดคล้องกับ นายรติ พันธุ์ทวี ผู้อำนวยการบริหาร ประจำสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำดื่มสิงห์ กล่าวว่า โรงงานผลิตน้ำดื่มของบริษัททั้ง 7 แห่ง ทั่วประเทศยังสามารถผลิตได้ปกติ “ในแง่ของซัพพลายน้ำไม่ต้องเป็นห่วง ทั้งเราและโรงผลิตน้ำแต่ละที่ก็มีแหล่งน้ำและมีการประมาณการเพื่อรับกับสถานการณ์ ถ้าเกิดมีปัญหาจริง ๆเราก็ยังมีเน็ตเวิร์กที่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคเข้ามาช่วยเหลือได้”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ