ชนชั้นกลางใหม่: รายได้ไม่เกี่ยว ไลฟ์สไตล์เพียวๆ เท่านั้น

ในโลกยุคสมัยปัจจุบัน เราอาจจะต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ความเป็นชนชั้นหรือ Hierarchy นั้น ยังคงมีอยู่ แม้จะไม่ชัดเจนเช่นเดียวกับสมัยเก่าก่อน แต่ก็มีระดับของความซับซ้อน การพึ่งพิง และวิวัฒนาการที่หลากหลายกว่าเดิมมาก และแม้ว่าการถือกำเนิดของ ‘ชนชั้นกลาง’ จะสร้างความยืดหยุ่นทางสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ แต่ก็เป็นชนชั้นกลางนี้เอง ที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้กับทุกสภาวะความเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าทึ่ง เช่นเดียวกับผลการสำรวจของสถาบัน Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN หรือ HILL ASEAN แห่งกลุ่ม Hakuhodo บริษัทโฆษณาที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น ในหัวข้อ ‘ชนชั้นกลางขั้นเทพ: มุมมองใหม่ของชนชั้นกลางในอาเซียน’ ที่ให้ภาพของชนชั้นกลางในความเข้าใจใหม่ ว่าอาจจะไม่ได้ผูกยึดกับรายได้เป็นแก่นหลักอย่างที่เคยเป็นมาเช่นในอดีตอีกแล้ว

//ชนชั้นกลางใหม่ : ไลฟ์สไตล์เป็นตัวนำ

อนึ่ง ในความเข้าใจดั้งเดิมเกี่ยวกับชนชั้นกลางนั้น ก็มักจะยึดติดกับกลุ่มคนที่ทำงานในสถาบันหรือองค์กรที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน และใช้จ่ายภายใต้ขอบเขตของรายได้นั้นๆ แต่จากผลสำรวจของ HILL ASEAN ล่าสุดนี้ กลับพบความจริงข้อใหม่ที่ว่า นิยามของ ‘ชนชั้นกลาง’ ในยุคปัจจุบัน ถูกกำหนดด้วย ‘ทัศนคติ’ ที่ตนมีต่อรูปแบบการใช้ชีวิต โดยไม่สนว่ารายได้ที่แท้จริงแบบองค์รวมนั้นจะเป็นเช่นใด ไม่ได้หมายความว่าการกินกาแฟแบรนด์ดัง หรือใช้ชีวิตแบบชีวจิต จะทำให้คนๆ นั้นเป็นชนชั้นกลางใหม่ หากแต่มันขึ้นกับว่า คนๆ นั้นได้มองเป้าหมายและความปรารถนาของชีวิตไว้ในแนวทางใด โดยไม่ได้จำกัดตนเองไว้กับเงื่อนไขทางรายได้ เรียกว่าเป็น Goal-Oriented มากกว่าที่จะเป็น Salary-Oriented อย่างที่เคยเป็นมา (และอาจจะไม่ได้มีเบ้าแบบที่ตายตัวว่า แบบใด จึงจะเรียกว่าเป็นชนชั้นกลางใหม่ที่แท้จริง) รวมถึงการถือกำเนิดของกลุ่มคนที่นิยามตนเองว่าเป็นชนชั้นกลางใหม่ในภูมิภาคอาเซียนนั้น ก็ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น

 

ตารางแสดงอัตราส่วนของชนชั้นกลางใหม่ในเขตกรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีรายได้ระดับ C (18000-50000 บาทต่อเดือน) และระดับ B (50001-80000 บาทต่อเดือน) มีจำนวนถึง 72% มากที่สุดในอาเซียน

//ราคาแห่งไลฟ์สไตล์

และด้วยการใช้ชีวิตโดยมีเป้าหมายของไลฟ์สไตล์เป็นที่ตั้ง แน่นอนว่ามันย่อมตามมาด้วยราคาที่ต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกลุ่มชนชั้นกลางใหม่นั้น ก็เลือกที่จะขยายหนทางเพื่อตอบสนองต่อราคาของไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ ซึ่งเราอาจจะพอสรุปแนวทางปฏิบัติของกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ได้โดยสังเขปดังต่อไปนี้

            -เพิ่มรายได้จากช่องทางต่างๆ (ไม่ว่าจะขายของ ทำธุรกิจ หรือลงทุนในแวดวงต่างๆ)

            -ลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น (เช่น การซื้อของเหมาโหล จนถึงการผ่อนจ่ายชำระเป็นงวดๆ ที่สามารถควบคุมได้)

            -เปลี่ยนรายจ่าย ให้เป็นรายได้ในอนาคต (เช่น ลงทุนกับการศึกษา)

กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ ไม่จำกัดตัวแนวทางการใช้ชีวิตของตนเองกับรายได้ หากแต่มองและพิจารณาว่า การใช้จ่ายที่แม้ว่าจะสูง จะสามารถก่อให้เกิดดอกผลอย่างไรในเวลาข้างหน้า เช่น การทำธุรกิจขายของควบคู่ในวันหยุด หรือการส่งลูกหลานในโรงเรียนนานาชาติ อีกทั้งผู้ที่มีรายได้สูงก็ไม่ได้จำกัดอยู่กับภาพลักษณ์เดิมๆ อาจจะใช้ความรู้ความสามารถของตน เพื่อขยับลงมาเป็นผู้นำกลุ่มชนชั้นกลางใหม่นี้ได้อีกทางหนึ่ง เช่น บล็อกเกอร์หรือกูรู เป็นต้น

//การมาถึงของชนชั้นกลางใหม่นี้ ส่งผลอย่างไรต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ?

ในตารางที่สอง แสดงถึงผลสำรวจกลุ่มคนในประเทศแถบอาเซียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีตัวเลขรายได้เฉลี่ยของชนชั้นกลางเป็นค่ากำหนด แต่การรับรู้การเป็นชนชั้นกลางใหม่นั้น ก็มีจำนวนมากกว่าค่ามาตรฐานดังกล่าว

เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แนวคิดของชนชั้นกลางใหม่ กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับภาพรวมของเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย เนื่องด้วยเส้นแบ่งที่ดูจะชัดเจนในยุคสมัยก่อน กลับเลือนลาง และมีหนทางในการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางรายได้ (นั่นหมายความว่า คนที่รายได้ไม่มากนัก ก็อาจจะพยายามเพื่อไปให้ถึงไลฟ์สไตล์ที่ตัวเองต้องการ หรือคนที่มีรายได้มาก ก็อาจจะไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการเนื่องจากไม่สามารถหยุดทำงานได้) มันจึงไม่น่าแปลกใจ ที่ทางเลือกสำหรับการลงทุนใดๆ ในปัจจุบัน ดูจะตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกทั้งสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ และหน่วยลงทุนต่างๆ จะออกผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้อย่างทั่วถึง

ข้อมูลประกอบการเขียน : http://www.hakuhodo.jp/pdf/2015/20151112.pdf

All images are courtesy of Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (HILL ASEAN)