โครงการรถไฟฟ้าส่วนขยายอันอยู่ระหว่างการก่อสร้างจะเปลี่ยนภาพตลาดใน 5 ปีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะปริมณฑลเพื่อรับการเปิดบริการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ ส่งผลอสังหาฯเริ่มวางกรอบใหม่สอดรับการเกิดรถไฟฟ้า “5 ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่า 15 ปีที่ผ่านมา” สัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าว
จากการเติบโตของ 200 สถานีใน 5 ปีทำให้เกิดหน้าดินใหม่ๆ ทำเลที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ยังไม่นับรวมจุดเปลี่ยนทำเลสถานีอินเตอร์เชนจ์ หรือสถานีที่เป็นจุดเปลี่ยนขบวนซึ่งเป็นฮับสำคัญของแต่ละพื้นที่ และมีการเติบโตทั้งในเชิงพาณิชย์ และความต้องการที่อยู่อาศัยที่สูงมาก ซึ่งคาดว่าสถานีอินเตอร์เชนจ์ในอนาคตก็จะมีภาพที่คล้ายกัน ด้านความต้องการที่อยู่อาศัย ประเมินจากการซื้อขายจริงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.1-1.2 แสนหน่วย/ปี กระจายในทุกพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองในปัจจุบัน อนาคตความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ในแต่ละปีจะยังใกล้เคียงเดิม แต่การเติบโตในอนาคตจะขยับไปกระจุกตัวบริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ส่วนเมืองชั้นในความไฮเอนจะสูงขึ้น
การเติบโตในพื้นที่ชั้นในจะไม่ได้สูงมาก เพราะที่ดินพร้อมพัฒนาหายากขึ้น ส่วนพื้นที่รอบนอก ที่ยังมีที่ดินพร้อมพัฒนา และใกล้รถไฟฟ้า ส่วนต่อขยาย ก็จะเป็นโซนที่ขยายตัว
ด้านภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วง 1 เดือนแรกที่ผ่านมา ยังซึมๆ โดยคาดว่าเป็นเพราะไตรมาส 4 ปี ที่ผ่านมา ไม่ได้มีแรงส่งที่แข็งแรงมากพอที่จะกระตุ้นให้ตลาดช่วงต้นปีได้ แต่เชื่อว่างานมหกรรมบ้านและคอนโด ซึ่งเป็นงานแฟร์ที่อยู่อาศัยของ 3 สมาคมวงการอสังหาริมทรัพย์ จะผลักดันให้ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งไตรมาสแรกของปีนี้กลับมาคึกคักมากขึ้น ส่วนตลาดต่างจังหวัดในปีนี้จะยังไม่ฟื้นตัวมาก และผู้ประกอบการต้องเร่งระบายซัพพลายเดิมที่มีอยู่ให้ลดลง ก่อนที่จะส่งซัพพลายใหม่ลงสู่ตลาดอีกครั้ง
ที่มา : reic