ดอกเบี้ย “กู้ซื้อบ้าน” ช่วยลดหย่อนภาษีได้ยังไง…?


มีเงินซื้อของเยอะ ก็ใช่ว่าจะไม่ต้องลำบากอะไรนะคะ เพราะอย่าลืมว่าหลังจากซื้ออะไรก็ตามแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ภาษีที่ต้องเสียไปด้วยนั่นเอง แต่หากว่าคุณซื้อบ้านแล้วล่ะก็ คุณทราบหรือไม่ว่า “ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน” นั้นสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย แต่จะลดได้ยังไง มาลองดูกันเลยค่ะ


ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัยนั้นสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

           ซึ่งรายละเอียดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการต่างๆดังต่อไปนี้ค่ะ

1. เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมภายในราชอาณาจักรเฉพาะที่กำหนดไว้ ได้แก่ ธนาคาร บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ เป็นต้น

2. เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคารพร้อมที่ดิน, ห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง

3. การจำนองนั้นๆต้องมีระยะเวลาจำนองและระยะเวลาการกู้ยืมระบุไว้

4. ต้องใช้อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตามระยะเวลาที่ระบุเป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ได้รับยกเว้นภาษี

5. กรณีผู้มีเงินได้มีอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตามระยะเวลาที่ระบุเป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อนเกินกว่า 1 แห่ง ให้หักลดหย่อนได้ทุกแห่ง สำหรับอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตามระยะเวลาที่ระบุไว้

6. สามารถหักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษี

7. กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืม สามารถลดหย่อนได้ทุกคนโดยให้เฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง และไม่เกิน 100,000 บาท

8. ในกรณีสามีภริยาร่วมกันกู้ยืมโดยสามีหรือภริยามีเงินได้เพียงฝ่ายเดียวให้หักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

9. กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกัน ให้ยังคงได้รับยกเว้นภาษีดังนี้
           (ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในปีภาษีที่ล่วงแล้ว ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ ไม่เกิน 100,000 บาท
           (ข) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมิน โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งตาม ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
           (ค) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และได้รับยกเว้นภาษีส่วนของสามีหรือภริยา ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

10. กรณีมีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เงินกู้ยืมระหว่างผู้ให้กู้ภายในราชอาณาจักรให้ยังคงหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

           เฮ้อ…กว่าจะอ่านจบ เยอะแยะเลยใช่มั้ยล่ะคะ หวังว่าความเยอะแยะทั้ง 10 ข้อนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านกันบ้างนะคะ ยังไงก็ลองศึกษาแล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กันดีกว่าค่ะ แล้วเจอกันใหม่บทความหน้า…สวัสดีค่า

ที่มา : กรมสรรพากร