การรับมรดกที่ดิน ใครมีสิทธิ และ ต้องเตรียมหลักฐานประกอบอะไรบ้าง?

การรับมรดกที่ดิน

การรับมรดกที่ดิน นั้นก็คือ เมื่อผู้ที่มีชื่อในเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน (เช่น โฉนดที่ดิน หรือ น.ส. หรือ น.ส.3 ก. หรือ น.ส.3 ข.) ได้ถึงแก่กรรมไป ในทางกฎหมายแล้วที่ดินเหล่านั้นก็จะถือเป็นมรดก ซึงจะตกทอดแก่ทายาทของผู้ตายโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรมที่เจ้ามรดกทำไว้

การรับมรดกที่ดิน ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรม มี 7 ลำดับ ดังนี้ต่อไปนี้

  1. ผู้สืบสันดาน(บุตร, หลาน, เหลน, ลื้อ)
  2. ภรรยาหรือสามี (ต้องได้จดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น)
  3. บิดาและมารดา
  4. พี่น้องร่วมสายเลือด ทั้งบิดาและมารดาเดียวกัน
  5. พี่น้องร่วมบิดา หรือ มารดาเดียวกัน
  6. ปู่ย่า ตายาย
  7. ลุง ป้า น้า อา

ตามกฎหมายแล้ว ใครมีสิทธิรับมรดกขึ้นอยู่กับผู้ตายซึ่งเป็นเจ้าของมรดกได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนตายหรือไม่ ถ้าทำไว้ทรัพย์มรดกก็จะตกเป็นของบุคคลที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม ซึ่งอาจเป็นญาติหรือผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติของเจ้าของมรดกก็ได้ แต่ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์ของมรดกก็จะตกเป็นของทายาทตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรม ซึ่งเป็นญาติชั้นสนิทหรือชั้นห่างของเจ้ามรดกนั้นเอง

สำหรับส่วนแบ่งมรดกของญาติโดยธรรมมีหลักอยู่ว่า ญาติลำดับเดียวกัน จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน หากคู่มรดกมีคู่สมรสและมีลูก คู่สมรสจะมีสิทธิเท่ากับลูกคนหนึ่ง แต่หากเจ้ามรดกไม่มีลูก แต่มีพ่อแม่หรือมีพี่น้องพ่อเดียวแม่เดียวกันและมีคู่สมรส คู่สมรสได้ครึ่งนึง อีกครึ่งหนึ่งแบ่งให้กับญาติ หากเจ้ามรดกไม่มีทายาทลำดับที่ 1,2,3,4 แต่มีทายาทลำดับที่ 5 คือพี่น้องพ่อเดียวกันหรือแม่เดียวกัน หรือลำดับที่ 6,7 คือปู่ย่าตายาย และลุง ป้า น้า อา คู่สมรสได้มรดก 2 ใน 3 ส่วน อีก 1 ใน 3 ส่วน ให้แก่ญาติไปแบ่งกัน ส่วนกรณีถ้าไม่มีทายาทซึ่งเป็นญาติ มรดกจะตกแก่คู่สมรสทั้งหมด

สำหรับขั้นตอนและหน่วยงานเพื่อการขอจดทะเบียนรับมรดก ผู้มีสิทธิได้รับมรดกกรณีเป็นที่ดินจะต้องไปขอจดทะเบียนรับโดนมรดกที่ดินนั้นที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ในกรณีที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน น.ส.3 ข. และสำนักงานที่ดินอำเภอ ในกรณีที่มีเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 ก., น.ส. 3 ถ้าท้องที่ใดที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกเลิกอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอเกี่ยวกับปฏิบัติการตามกฎหมายที่ดินแล้ว ไม่ว่าที่ดินจะเป็นโฉนดที่ดิน น.ส. 3ก. หรือ หรือ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ข.จะต้องไปขอจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน จังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินตั้งอยู่

การรับมรดกที่ดิน

หลักฐานที่ต้องนำไปประกอบการขอรับมรดก คือ

  • โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองทำประโยชน์
  • บัตรประจำตัว
  • ทะเบียนบ้าน
  • หลักฐานการตายของเจ้ามรดก เช่น มรณบัตร
  • พินัยกรรม (ถ้ามี)
  • ถ้าผู้ขอ ขอรับมรดกในฐานะเป็นคู่สมรส ต้องมีหลักฐานการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • ถ้าผู้ขอรับมรดกเป็นบิดาเจ้ามรดก ต้องมีทะเบียนสมรสกับมารดาของเจ้ามรดกหรือหลักฐานการรับรองบุตร
  • กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้ขอรับมรดก ต้องแสดงหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
  • ถ้ามีกรณีพิพาทเกี่ยวกับมรดก ต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแสดง
  • ถ้ามีผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกันหลายคน บางคนได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ต้องมีหลักฐานการตายของทายาทนั้น ๆ

 

การรับมรดก กรณีเป็นผู้จัดการมรดก

  • คำสั่งศาลหรือคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด หรือพินัยกรรมซึ่งตั้งให้ผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดก
  • หลักฐานการตายของเจ้ามรดก
  • ทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวของผู้จัดการมรดก
  • โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน

  • ค่าคำขอ แปลงละ ๕ บาท
  • ค่าประกาศมรดก แปลงละ ๑๐ บาท
  • ค่าจดทะเบียนผู้จัดการมรดก แปลงละ ๕๐ บาท
  • ค่าจดทะเบียนโอนมรดก ร้อยละ ๒ ตามราคาประเมินทุนทรัพย์
  • ในกรณีโอนมรดกระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือระหว่างคู่สมรส เรียกตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ร้อยละ ๐.๕

 

แนวทางการจัดการมรดกที่ดิน

สำหรับหลักปฏิบัติในการแบ่งที่ดินมรดกเมื่อได้มรดกมาแล้ว มีแนวทางในการจัดการมรดกดังนี้

ก. ลงชื่อทายาทที่มีสิทธิรับมรดกทุกคนไว้ตามส่วน คือยังไม่แบ่งมรดกแต่ใส่ชื่อไว้ก่อนว่าใครมีสิทธิในมรดกบ้าง และได้สิทธิแค่ไหน เป็นการกันไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งฮุบมรดกคนเดียว

ข. ทำรังวัดเนื้อที่ให้เป็นสัดส่วนแน่นอน แบ่งออกเป็นแปลงๆ ตามสิทธิของแต่ละคน อาจไม่จำเป็นต้องได้เนื้อที่เท่ากัน เช่น คนที่ได้ที่ด้านหน้าติดถนนเป็นส่วนที่ราคาสูงกว่าส่วนอื่นๆ ก็อาจได้เนื้อที่น้อยกว่าคนอื่น เป็นต้น พร้อมทั้งแบ่งส่วนทางเดินทางสาธารณะให้เรียบร้อย

ค. แบ่งการครอบครองตามสัดส่วนที่ได้ครอบครองกันมา เช่น มีบ้านในหมู่เครือญาติปลูกอยู่รวมกันหลายหลังในที่ผืนใหญ่ผืนเดียวกัน เมื่อเจ้าของที่ซึ่งเป็นเจ้าของมรดกตายไป ทายาทอาจแบ่งที่ดินตามลักษณะการครอบครองเดิม เช่น บ้านใครอยู่ตรงไหน ก็ได้ที่ส่วนนั้นไป

ง. ทำสัญญาแบ่งมรดกกัน ทายาทอาจทำสัญญาแบ่งมรดกกันว่าใครได้ส่วนไหน โดยไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกกันก็ได้ สัญญานี้ใช้บังคับได้แต่ต้องทำกันเป็นลายลักษณ์อักษร

จ.ขายมรดกเอาเงินมาแบ่งกัน ปกติศาลจะให้ทายาทพยายามตกลงแบ่งมรดกกันเองก่อน ต่อมาเมื่อตกลงกันไม่ได้แล้วจึงจะใช้วิธีนี้

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ “ที่ดิน เล่น ลงทุน ทำเงินและหากำไรอย่างชาญฉลาด”

คอนโดให้เช่า เฮ การคลัง-มหาดไทย แจง จ้ายเท่าอยู่จริงคอนโดให้เช่า เฮ การคลัง-มหาดไทย แจง จ้ายเท่าอยู่จริง

 

 

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก