กทม.เตรียม เก็บค่าตั๋ว BTS ใหม่ หวังหาเงินโปะหนี้แสนล้าน

BTS

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย ว่า กทม.มีแนวคิดจะจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ทั้งโครงข่ายเก่าและส่วนต่อขยายใหม่ที่จะรับโอนโครงการมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในอัตราเริ่มต้นเท่ากับอัตราปัจจุบันที่ 16 บาท และอัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาท เพราะเมื่อเปิดใช้บริการส่วนต่อขยายใหม่ระยะทางจะเพิ่มขึ้นเป็น 67 กม. และมี 55 สถานี

จ่ายค่าตั๋ว BTS แรกเข้าครั้งเดียว

“ต้องเข้าใจว่าสายหลักเป็นสัมปทานของบีทีเอส 23 กม. เก็บค่าโดยสาร 16-44 บาท เมื่อรวมส่วนต่อขยายที่ กทม.ดำเนินการเองอ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-บางหว้า จะเก็บค่าโดยสารในอัตราสูงสุด 59 บาท เมื่อเปิดส่วนต่อขยายอีก 2 ช่วง คือ หมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ

จริง ๆ แล้วเมื่อใช้ทั้งโครงข่ายค่าโดยสารจะอยู่ที่ 146 บาท ซึ่งแพงเกินไป เพราะต้องจ่ายหลายต่อ แต่ถ้าหากรวมเป็นเส้นทางเดียวกันจะเสียค่าแรกเข้าครั้งเดียว ทำให้ค่าโดยสารถูกลง ลดภาระประชาชน จูงใจให้คนมาใช้มากขึ้น”

เรื่องค่าโดยสาร กทม.จะต้องหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และสภา กทม.ก่อน จึงจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน หากเป็นไปตามแผนคาดว่าอัตราค่าโดยสารใหม่จะประกาศใช้ในเดือน ธ.ค.นี้ พร้อม ๆ เปิดส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ

BTS

เปิดสัมปทานใหม่โปะหนี้แสน ล.

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า การรับโอนหนี้ค่าก่อสร้างและงานระบบ เมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วจะอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาท รอสภา กทม.พิจารณาอนุมัติร่างข้อบัญญัติรับโอนหนี้ แต่วงเงินสูง และ กทม.ไม่มีงบประมาณพอ

จึงมีแนวคิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานส่วนต่อขยายและรับภาระหนี้ทั้งหมด เพราะในปี 2563 จะต้องเริ่มจ่ายค่างานระบบก่อนกว่า 2 หมื่นล้านบาท วิธีนี้จะทำให้ กทม.ไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย ขณะที่เอกชนจะมีรายได้จากค่าโดยสารไปชำระหนี้คืนรัฐได้”

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) วิสาหกิจของ กทม. กล่าวว่า โมเดลการหาเงินมาชำระหนี้สายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางดังกล่าว ยังไม่ตกผลึก แต่การเปิดให้สัมปทานใหม่เป็นทางเลือกหนึ่ง ส่วนจะต้องรวมกับสัมปทานเก่าของบีทีเอสหรือไม่ ยังไม่เป็นที่ยุติเช่นกัน แต่แนวโน้มบีทีเอสจะเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้การเดินรถต่อเชื่อมกันทั้งระบบ ภายใต้สัมปทานรายเดียว

 

รวบสัญญาเก่า-ใหม่

“สัมปทานบีทีเอสจะหมดปี 2572 หากได้ข้อยุติ และบีทีเอสยินยอมให้รวมสัมปทานกับส่วนต่อขยายใหม่ ก็ต้องแก้ไขในสัญญาเดิม ยกเลิกข้อตกลงเดิมที่ว่าจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยายเก่าและส่วนต่อขยายใหม่ ไปคูคตกับสมุทรปราการ ที่จะหมดสัญญาพร้อมกันปี 2585 กว่า 3 แสนล้านบาท และทำเป็นเงื่อนไขภายใต้สัมปทานใหม่ว่าให้มีผลหลังปี 2572 รวมถึงส่วนการแบ่งรายได้ด้วย จะคำนวณกันอย่างไร เพราะหลังปี 2572 ทรัพย์สินและรายได้จะเป็นของ กทม.ทั้งหมด”

รายงานข่าวจาก กทม.เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภา กทม.ยังมีข้อท้วงติงเรื่องการรับโอนหนี้มาทั้งหมด เนื่องจากมองว่า กทม.และ รฟม. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐเช่นกัน เมื่อรัฐรับภาระค่าโครงสร้างพื้นฐานวงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ให้ รฟม. เพราะเหตุใดจึงไม่รับหนี้ส่วนนี้แทน กทม. และให้ กทม.รับภาระเฉพาะค่างานระบบกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ การเก็บค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท อาจกระทบต่อคนที่เดินทางระยะสั้น ส่วนคนที่ใช้บริการทางไกลจะได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม อยู่ที่การคำนวณว่าจะเริ่มเก็บ 65 บาทที่กี่สถานี เพราะระยะทางเพิ่มขึ้นเป็น 67 กม. และมี 55 สถานี จากปัจจุบันบีทีเอสเริ่มเก็บอัตราสูงสุด 44 บาท ตั้งแต่สถานีที่ 10 เป็นต้นไป

 

บีทีเอสรับได้ทุกข้อเสนอ

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (BTSC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทกำลังเจรจาหารือกับ กทม.ถึงแนวทางการหาเงินมาชำระหนี้โครงการสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่รับโอนมาจาก รฟม. ให้เป็นธรรมทุกฝ่าย ทั้งบีทีเอส กทม.และประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งมีแนวคิดจะรวมสัมปทานเดิมเข้ากับส่วนต่อขยายใหม่เป็นสัมปทานเดียวกันทั้งหมด และเก็บค่าโดยสารตามระยะทางจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียว อัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ส่วนอัตราเริ่มต้นต้องเจรจากันว่าจะใช้ราคาปัจจุบันที่ 16 บาท หรือกำหนดขึ้นมาใหม่ รวมถึงส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้ กทม.ด้วย

“การเจรจาใหม่นี้อาจจะต้องเข้าร่วมทุนด้วย เพราะเกี่ยวพันกับสัมปทานเดิม ส่วนค่าโดยสารใหม่ยังไงต้องถูกกว่าปัจจุบัน เพราะไม่มีค่าแรกเข้าหลายต่อ และระยะทางก็ยาวขึ้น ส่วนรายละเอียดคงต้องเจรจากับ กทม.ก่อน”

ส่วนสัมปทานใหม่ หากมีข้อยุติที่ลงตัวจะต้องยกเลิกสัญญาจ้างเดินรถก่อนหน้านี้ แล้วเปลี่ยนเป็นสัมปทานใหม่ แต่ต้องเริ่มนับหลังปี 2572 เนื่องจากสัมปทานเดิมได้นำเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานบีทีเอสไปแล้ว ซึ่งมีวิธีการที่จะตกลงกันก่อนได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยพยายามจะให้ทุกอย่างจบภายใน ธ.ค.นี้ พร้อมกับเปิดช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ค่าโดยสารสูงสุด 65 บาทเป็นข้อเสนอของบีทีเอส อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนเรื่องการโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง จะเร่งสรุปให้เสร็จในเดือน พ.ค.นี้ ล่าสุด กทม.รอสภาอนุมัติ เพื่อเปิดบริการช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการในเดือน ธ.ค.นี้ ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว เหลือติดตั้งงานระบบไฟฟ้า ซึ่งคืบหน้าแล้ว 59.93% ในอนาคตรถไฟฟ้าสายนี้จะไปเชื่อมกับสายสีเหลืองสร้างจากลาดพร้าวมาที่สถานีสำโรงในปี 2564 จะทำให้คนฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯเดินทางสะดวกขึ้น

 

ที่มา prachachat.net

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เราหามาเสริฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก …