นายวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ กรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า กฎหมาย ภาษีที่ดิน และปลูกสร้างที่จะบังคับใช้ในปี 2563 นั้น เห็นว่ากฎหมายมุ่งเน้นไปที่การเก็บภาษีในกลุ่มที่ดินรกร้างว่างเปล่าในอัตราที่สูง โดยไม่มีการแยกแยะว่าเป็นที่ดินที่มีอยู่แล้ว และผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่เองในอนาคต ซึ่งไม่ใช่เพื่อจำหน่ายจะได้รับผลกระทบจากการตีความเหมารวมว่าเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ทำให้โอกาสประชาชนมีบ้านเป็นของตนเองได้ยาก
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ที่มีที่ดินอยู่แล้ว หรือผู้ที่ต้องการจะซื้อที่ดินเพื่อจะปลูกสร้างบ้านในอนาคตต้องเสียภาษีแต่ละปีในอัตราที่สูง จึงเป็นการกดดันให้ผู้มีที่ดินอยู่ต้องขายที่ดินไปในที่สุด ขณะเดียวกันยังเป็นการปิดกั้นโอกาสผู้ที่จะซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่เองในอนาคต นอกจากนี้ เมื่อประชาชนไม่สามารถรับภาระภาษีที่ดินได้ ท้ายที่สุดก็ต้องขายที่ดินออก และต้องไปซื้อบ้านจัดสรรหรือคอนโด ซึ่งบ้านจะมีราคาสูง เพราะภาระภาษีที่ผู้ประกอบการต้องเสียสะสมเป็นต้นทุนบ้านที่ขายทั้งสิ้น เช่น ที่ดิน 1 ล้านบาท ระยะ 10 ปี ภาษีสะสมที่ต้องเสียอยู่ที่ 6.6% เป็นต้น
ขณะเดียวกันมองว่า เมื่อไม่มีที่ดินจะสร้างเอง การจ้างงานก็จะไม่เกิดขึ้น แต่จะเกิดการจ้างงานในกลุ่มบ้านจัดสรร ซึ่งเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่จะเกิดการกระจุกตัวเฉพาะบางกลุ่ม ทั้งนี้ ตลาดสร้างบ้านเองในแต่ละปีมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยในเขต กทม.และปริมณฑล มีผู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ของตนเองประมาณ 2 หมื่นหลัง/ปี หากรวมทั่วประเทศจะมีราว 5 หมื่นหลัง/ปี หากคำนวณจากหลังละ 3 ล้านบาท มูลค่ารวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท/ปี เป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากพอสมควร โดยยังไม่นับรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีก 30-50%
ดังนั้นรัฐบาลควรจัดทำฐานข้อมูลเฉพาะกลุ่มแยกออกกลุ่มอสังหาฯ กลุ่มจัดสรรร ซึ่งเมื่อต้องออกมาตรการอะไรจะได้มีความชัดเจน อีกทั้งควรนำข้อมูลเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจเช่นเดียวกับต่างประเทศ ซึ่งสร้างบ้านเองเป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ โดยตลาดสร้างบ้านเองปี 2562 คาดว่าจะเติบโต 5-10% จากการเร่งทำตลาดและความเชื่อมั่นสถานการณ์ในประเทศ
นายวิสิฐษ์ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ มี ข้อเสนอถึงรัฐบาลเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง ควรยกเว้นภาษีที่ดินเปล่าเพื่อการอยู่อาศัย ให้คนละ 200 ตารางวา ส่วนเกินเก็บตามที่กฎหมายกำหนด และรัฐควรเป็นเจ้าภาพในการจัดสรรที่ดินเปล่าให้กับประชาชนในราคาถูกในรูปแบบสวัสดิการโดยผ่านหน่วยงานของรัฐ เช่น ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เพื่อจะได้มีโอกาสมีบ้านได้ง่ายขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการจ้างงานสร้างการกระจายรายได้แบบทั่วถึง
สรุปแบบชัดเจน 1 ม.ค. ปีหน้า เราต้องจ่ายภาษีที่ดินใหม่คนละกี่บาท
8 ล้านไร่ ดิ้นหนีภาษีที่ดิน แห่ปล่อยเช่า-ขายทิ้ง ก่อน 3 ปี เสีย 0.3%
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์