รู้หรือไม่ หากถูกศาลออกหมายจับ คนโดนหมายเจอคัดชื่อพ้น “ทะเบียนบ้าน”

ทะเบียนราษฎร

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา มีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่3) พ.ศ.2562  ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการ ทะเบียนราษฎร

 

พ.ร.บ. การ ทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 3 ระบุผู้ที่ถูกศาลออกหมายจับถูกย้ายเข้าทะเบียนบ้านกลาง

ทะเบียนราษฎร

พระราชบัญญัตินี้ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เพื่อให้การทะเบียนราษฎรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อการอํานวยความเป็นธรรม การอํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชน การรักษาความสงบเรียบร้อย และการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ ในกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องการให้บริการแก่ประชาชน หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงในราชอาณาจักร รมว.มหาดไทย จะอนุมัติให้ ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูลที่ปรากฏในทะเบียนอื่นนอกจากทะเบียน เฉพาะข้อมูลที่จําเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ โดยการพิจารณาอนุมัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์

ทั้งนี้ให้ผู้อํานวยการทะเบียนกลางกําหนดเลขประจําตัวแก่ผู้มีสัญชาติไทยหรือคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร และบุคคลที่ได้จดทะเบียนคนเกิด ณ สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย คนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการกําหนดเลขประจําตัวให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อํานวยการทะเบียนกลางกําหนด ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องแยกระหว่างผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยด้วย อีกทั้งให้ผู้พบเด็ก ผู้รับเด็กไว้ และผู้แจ้งการเกิด ให้ความร่วมมือกับนายทะเบียนผู้รับแจ้งในการดําเนินการพิสูจน์ตามที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งร้องขอ  ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้นายทะเบียน

อําเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทําทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน เว้นแต่เด็กนั้นมีอายุครบ 5 ปีแล้วให้นายทะเบียนอําเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นออกบัตรประจําตัวให้แทน ตามระเบียบและภายในระยะเวลาที่ และถ้ามีหลักฐานแสดงว่าได้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีคุณสมบัติอื่นตามที่กําหนด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคําร้องขอมีสัญชาติไทยได้

นอกจากนี้ มาตรา 13 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ ในกรณีที่ศาลออกหมายจับผู้ใดตามคําร้องขอของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ หรือในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจได้รับแจ้งจากศาลให้จับกุมผู้ใดตามหมายจับที่ศาลออกเอง ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาภายใน 180 วันนับแต่วันที่ศาลออกหมายจับ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจแจ้งให้ผู้อํานวยการทะเบียนกลางทราบ และให้ผู้อํานวยการทะเบียนกลางดําเนินการให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งย้ายผู้นั้นออกจากทะเบียนบ้าน และเพิ่มชื่อและรายการของผู้นั้นไว้ในทะเบียนบ้านกลาง และให้หมายเหตุไว้ในรายการของบุคคลนั้นว่าอยู่ในระหว่างการติดตามตัวตามหมายจับด้วย ซึ่งผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ถ้าผู้นั้นประสงค์จะย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง ต้องมาแสดงตนต่อนายทะเบียนที่จัดทําทะเบียนบ้านกลางนั้นพร้อมทั้งหลักฐานอันแสดงว่าหมายจับนี้นได้ถูกเพิกถอนหรือได้มีการปฏิบัติตามหมายจับนั้นเสร็จสิ้นแล้ว.

ด้าน นายวิเชียร ชิดชนกนารถ รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวถึง พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ว่า การย้ายรายชื่อเข้าในทะเบียนบ้านกลาง เป็นเพราะเราไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ไหน คนที่ถูกศาลออกหมายจับและมีการหลบหนี บางคนอาศัยการย้ายที่อยู่ไม่มีบ้านปลายทาง คือ ย้ายลอย ก็จะทำให้ทางราชการไม่สามารถติดต่อได้ ดังนั้นจึงนำชื่อมาไว้ในทะเบียนบ้านกลางจนกว่าจะมาแสดงตน หากไม่มาแสดงตนทางทะเบียนราษฎร จะดำเนินการ เช่น ย้ายที่อยู่ไม่ได้ ทำบัตรประชาชนไม่ได้ ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากไม่ทราบว่าตัวตนเขาอยู่ไหน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการสวมสิทธิเนื่องจากหากชื่อลอย ไม่สามารถยืนยันตัวตน อาจจะเป็นช่องว่างให้คนมาสวมสิทธิ์ได้.

 

ที่มา dailynews

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก