นายกฤช หิรัญกิจ ประธานที่ปรึกษาสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา เผยว่า ขณะนี้สถาบันการเงินเข้มงวดการพิจารณาปล่อยกู้พรีไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อโครงการมาก หากเป็นผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็กที่เป็นหน้าใหม่แทบจะไม่ปล่อยกู้เลย และเป็นทุกสถาบันการเงินไม่เฉพาะธนาคารกรุงไทยเท่านั้น ส่วนถ้ามีประสบการณ์พัฒนาโครงการมาก่อน ถึงแม้จะอนุมัติสินเชื่อแต่วงเงินที่ได้ลดลง จากเดิมเคยให้ 80-90% ของที่ยื่นกู้ เหลือ 70-75% ของค่าก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการคอนโดฯจะถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง
และถึงแม้มีประสบการณ์ทำโครงการก่อน แต่ถ้ามีประวัติโครงการในอดีตขายไม่ดี สถาบันการเงินก็อาจไม่ปล่อยเงินกู้ การปรับตัวของผู้ประกอบการตอนนี้คือชะลอโครงการใหม่ เห็นได้จากภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 4 เดือนแรก โครงการใหม่เปิดตัวเพียง 3 โครงการ เป็นบ้านจัดสรรทั้งหมด
ขณะที่กลุ่มทุนอสังหาฯจากส่วนกลางที่ก่อนหน้านี้แห่ขยายออกสู่ต่างจังหวัด ปีนี้ก็ชะลอกันไปอย่างชัดเจน อย่างกรณี บมจ.แสนสิริ ที่เปิดโครงการคอนโดฯและบ้านจัดสรรในต่างจังหวัดปี 2555-2556 ไม่ต่ำกว่า 20 โครงการ อาทิ ภูเก็ต หัวหิน-ชะอำ เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น ฯลฯ ตั้งแต่ปี 2557 ได้ชะลอเปิดโครงการคอนโดฯในต่างจังหวัด และเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้หยุดการขายโครงการเดอะเบส เซ็นทรัล อุดรฯ ขณะที่ปี 2558 ยังไม่มีแผนเปิดคอนโดฯต่างจังหวัดเพิ่ม
ทางด้านธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจุบันแบงก์ได้หันมาโฟกัสการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ระดับท็อปของอุตสาหกรรมเป็นหลักเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อกลุ่มนี้ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็สามารถสร้างมาร์เก็ตแชร์เพิ่มเป็น 10% จากเดิมมีไม่ถึง 5%
ส่วนธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า กลุ่มดีเวลอปเปอร์รายเล็กที่เป็นรายใหม่นั้นไม่ได้ขยายสินเชื่อเพิ่มมาประมาณ 2 ปีแล้ว เนื่องจากมองว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะล้นตลาด และหากไม่ใช่ผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงในตลาดและไม่มีความพร้อมทางการเงินจริง ก็อาจทำธุรกิจได้ลำบาก
และสำหรับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยนั้น ยอมรับว่า ที่ผ่านมาธนาคารค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม คอมมิวนิตี้มอลล์ เนื่องจากมองว่าเกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายแล้ว รวมทั้งกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพืชผลเกษตร เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ดังนั้นผู้ขอสินเชื่อกลุ่มนี้ ธนาคารอาจเรียกเอกสารหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเติม โดยเลือกลูกค้าที่มีประวัติการเงินดี มีผลงานชัดเจนก่อน ส่วนลูกค้าใหม่ก็ต้องไม่มีประวัติการเป็นหนี้เสียในรอบ 2 ปี
จากรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ภาพรวมสินเชื่อธุรกิจในไตรมาส 1/58 มียอด คงค้างอยู่ที่ 7.73 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน 1.8 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่า สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมีเอ็นพีแอลคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 1/58 อยู่ที่ 3.56 หมื่นล้านบาท และมีอัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 4.5% รองลงมา ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม 3.5% ธุรกิจบริการ 3.2% ภาคการพาณิชย์ 3.1% และสาธารณูปโภค 1.0%
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ