“ฉัตรชัย” เผยมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองทำผู้มีรายได้น้อยประหยัดเงินในกระเป๋าถึง 20,000 บาท พร้อมนำเงินไปผ่อนบ้านโครงการ บ้านล้านหลัง เดือนละ 3,800 บาทถึงนาน5เดือนคุยลั่น!! ปล่อยกู้บ้านโครงการล้านหลังแล้ว 5 พันราย วงเงิน 3,500 ล้านบาท ด้านผู้ประกอบการเอกชนแนะรัฐบาลขยายเงินกู้ซื้อบ้านเป็น 2 -2.5 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้
ปล่อยกู้ บ้านล้านหลัง ฉลุย คุยลั่นปล่อยกู้บ้านแล้ว 5 พันราย
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงินจำนองไม่เกิน 1 ล้านบาท นั้นส่งผลดีต่อผู้ที่ยื่นกู้ซื้อบ้านในโครงการบ้านล้านหลังของ ธอส.เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้เนื่องจากมาตรการนี้กำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ 0.01% จากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์รวมถึงให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนห้องชุดและค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุด 0.01% จากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนองซึ่งถ้าซื้อบ้านในโครงการบ้านล้านหลังราคาไม่เกิน1ล้านบาทจะประหยัดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองถึง 20,000 บาท
“มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองบ้านเป็นมาตรการที่ดีมาก เพราะผู้มีรายได้น้อยที่กู้ซื้อบ้านสามารถนำเงินที่แต่เดิมต้องจ่ายเงินในการโอนและจดจำนองบ้านในอัตราถึง 1-2% สามารถนำเงินส่วนนี้ไปผ่อนเป็นค่าเช่าบ้านรายเดือนซึ่งจะต้องผ่อนประมาณ 3,800 บาทต่อเดือนได้ถึง 5 เดือนอย่างสบายๆ”
สำหรับโครงการบ้านล้านหลังที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปที่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อคนต่อเดือนจำนวน 127,000 รายมากู้ยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุด ธอส.มีการอนุมัติเงินกู้แล้วจำนวน 5,000 ราย วงเงินกู้ 3,500 ล้านบาทส่วนผู้ขอยื่นกู้ที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบว่า มีความพร้อมจะกู้ซื้อบ้านหรือไม่โดยธอส.จะรีบตรวจสอบและเร่งอนุมัติเงินกู้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ค.นี้ ก่อนจะเปิดให้ลงทะเบียนโครงการบ้านล้านหลังระยะที่ 2 ในเดือน ก.ย.นี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการบ้านล้านหลังมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาดำเนินโครงการที่สั้นเกินไป ดังนั้น ครม.จึงมีมติอนุมัติขยายเวลาการทำนิติกรรมจากเดิมภายในสิ้นปีนี้เป็นขยายจนกว่า ธอส.จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้เต็มกรอบวงเงินของโครงการคือ 50,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 เพื่อให้ผู้ประกอบการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหลังได้ครบจำนวน 50,000 ยูนิต
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัยจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐสนับสนุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสมีบ้านแต่คงไม่ได้ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯในภาพรวมได้ไม่มาก
ทั้งนี้ ในส่วนของการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มูลค่าที่อยู่อาศัยที่จะได้สิทธิ์ต้องมีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้น ส่วนตัวมองว่า ถ้าหากจะเห็นผลช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯควรตั้งเกณฑ์ราคาที่อยู่อาศัยที่มีสิทธิ์อยู่ในช่วง 2-2.5 ล้านบาท ซึ่งหากมองจริงๆแล้วที่อยู่อาศัยที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ในเขตกรุงเทพฯมีน้อยมาก รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการในปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีใครพัฒนาโครงการที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อหลังออกมา เนื่องด้วยจากปัจจัยราคาที่ดินที่มีแต่พุ่งสูงรวมถึงค่าก่อสร้าง จึงไม่สามารถทำได้
ด้าน นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟกต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการนี้ถือเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่กำลังมองหาซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่หากมองทำเลในกรุงเทพฯคงเป็นอะไรที่หาได้ยาก ส่วนใหญ่ที่จะมีก็จะเป็นสินค้าประเภทคอนโดมิเนียมซึ่งจะเป็นโครงการเก่าที่สร้างเสร็จแล้ว 3-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากจะมองหาโครงการใหม่ๆคงเป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของมาตรการนี้ก็จะเป็นผู้มีรายได้น้อยซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าแน่นอนการเลือกหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับตนเองคงไม่ใช่เรื่องยากแต่เรื่องที่ยากคือการขออนุมัติสินเชื่อบ้านจากทางธนาคาร เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้จะไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่ชัดเจน ทำให้ยากต่อการขอสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมียอดการปฏิเสธสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้นโดยมีตัวเลขตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย.ปีนี้ ภาพรวมมีการปฏิเสธสินเชื่อบ้านที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ไปแล้วถึง 50% ซึ่งในจุดนี้ก็อยากให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญในจุดนี้ด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
เจาะทำเลที่ดิน “ทรัสต์ซิตี” กว่า 500 ไร่ ย่าน บางนา รับอีอีซี
ธอส. ชี้ รัฐมาถูกทางแล้ว ลดค่าโอน-จำนองบ้าน ช่วยผู้มีรายได้น้อยต้องการซื้อบ้าน