ผังเมืองใหม่ กทม. ขยายไข่แดงย่านธุรกิจ ขีดวงเพิ่มเขตวัฒนา พระโขนง พระราม 9 ขึ้นแท่นศูนย์กลางธุรกิจ ด้านผู้ดีเก่าไฮโซ รวมตัวค้านแหลก ผวาภัยตึกสูงทำชีวิตพัง ดีเดย์ รวมพล 24 พฤษภาคม นี้ประชาพิจารณ์ใหญ่
ปัจจุบันผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครกำหนดศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) ไว้เพียงจุดเล็กๆ บริเวณย่าน สุขุมวิท สีลม สาทร ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเพื่อล็อกไม่ให้เมืองโตแบบไร้ทิศทาง และเต็มไปด้วยตึกสูง อย่างไรก็ตาม เมื่อที่ดินในเขตกรุงเทพฯชั้นในหายากมีราคาแพง ส่งผลให้การขยายตัวของเมืองเริ่มถ่างออกไปยังพื้นที่โดยรอบ ตามความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่และส่วนต่อขยาย
คนรวย ต้านผังเมืองใหม่ ค้านขยายย่านธุรกิจ ทำชีวิตพัง
ส่งผลให้การปรับปรุงผังเมืองรวมกทม.รอบใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงสูง โดยเฉพาะย่านสำคัญๆ อย่างซีบีดี จะไม่ถูกจำกัดไว้เพียงเท่านั้น ล่าสุดได้ขยาย จาก สุขุมวิท ตอนต้นออกไป ยังพื้นที่เขตพระโขนง บางบริเวณ และเขตวัฒนา บางบริเวณ เนื่อง จากบริเวณนี้เป็นโซนที่มีตึกสูงอาคารขนาดใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม รองรับคนเข้าพื้นที่
นอกจากนี้ยังขยับเขตซีบีดีออกไปอีกจุดสำคัญได้แก่ ถนนเพชรบุรี ฮับมักกะสัน ซึ่งจะถูกเนรมิตให้เป็นเมืองแห่งการเชื่อมต่อ การเดินทางระหว่างรถไฟความเร็วสูง, แอร์พอร์ตลิงค์กับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีทำเลไม่ห่างกันมากจะเป็น พระราม 9-รัชดาฯ (สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ) อีกย่านที่ถูกกำหนดให้เป็นซีบีดี ประตูสู่อีอีซีอีกเส้นทาง ปัจจุบันได้รับความนิยมจากนักลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติจับจองพื้นที่ขึ้นตึกสูงหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งมีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ตัดกับสายสีส้ม(ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ทำให้ราคาที่ดินขยับสูงกว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวา ดังนั้นจึงเหมาะเป็นแหล่งงานมากกว่าคอนโดมิเนียมเพียงอย่างเดียว
ขณะการขยายไข่แดงใจกลางเมือง มีทั้งคนเห็นด้วยและคัดค้านเนื่องจากแต่ละรายมีเหตุผลต่างกันออกไปแหล่งข่าวจากสำนักผังเมืองกรุงเทพ มหานครเปิดเผยว่า จากการเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นส่วนย่อยในโซนสุขุมวิทพบว่า มีเจ้าของบ้าน ในเขตวัฒนาต้องการความสงบออกมารวมตัวคัดค้าน เพราะจะกระทบชีวิตความเป็นอยู่จากสังคมตึกสูง ขณะผู้ประกอบการและเจ้าของที่ดินบางรายมองว่า จะช่วยเพิ่มมูลค่าที่ดินให้สูงขึ้น
นายนพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร กทม. ระบุว่า ผังเมืองเปรียบเสมือนเครื่องมือชี้นำการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะโซนใจกลางเมือง จะมีการขออนุญาตอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่พิเศษ จำนวนมาก และเริ่มขยับออกไปยังกรุงเทพฯ ชั้นกลางแนวรถไฟฟ้า ขณะเดียวกัน แม้กฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร และ อีไอเอ (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) จะอนุญาต แต่การคัดค้านฟ้องร้องต่อศาลก็มักเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ระหว่าง บ้านเก่ากับตึกสูง
นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนนทบุรีและเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า ผังกทม.ใหม่ เปิดให้เอกชนพัฒนาได้มากขึ้น หลายพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แม้จะไล่ตามราคาที่ดินไม่ทันก็ตาม อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรีแล้ว กลายเป็นว่าผังกทม. กลับลงทุนได้มากกว่า
“แม้ผังเมือง จะอนุญาตแต่การคัดค้านฟ้องร้องต่อศาลก็มักเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ระหว่าง บ้านเก่า กับตึกสูง”
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ความเปลี่ยนแปลงของ ผังเมือง กรุงเทพปี 2556 กับผังเมืองใหม่ ต่างกันแค่ไหน?
เคาะผังเมือง อีอีซี มิ.ย. ชี้ พื้นที่อุตสาหกรรม 3 แสนไร่ ลดพื้นที่เกษตร 5%