DotProperty.co.th

Debt Addiction: หรือคุณจะ ‘เสพติดหนี้’!

‘การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ’ ดูจะเป็นวลีสำคัญในยุคเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยทุน ที่ๆ ทุกการจับจ่าย เกิดขึ้นได้โดยมีเงินทองเป็นตัวกลางซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แวดวงอสังหาริมทรัพย์ ที่โดยส่วนมาก การเริ่มต้นมักจะเกิดขึ้นจากการผูกพันตัวเองให้เป็นหนี้กับเงินกู้หรือสินเชื่อธนาคาร ต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอะไร ตราบเท่าที่คนๆ หนึ่งสามารถบริหารจัดการกับกระแสเงินที่มีอยู่ได้โดยตลอดรอดฝั่ง

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกได้ถึงอาการ ‘เดือนชนเดือน’ ทุกอย่างทางการเงินดูฉุกเฉินคับขัน ต้องกู้ยืมเพื่อมาโปะอย่างซ้ำซากไม่จบไม่สิ้น ชักหน้าไม่ถึงหลังมาโดยตลอดแล้วนั้น ลองนั่งนิ่งๆ แล้วตรองใจดูให้ดี เพราะเหล่านี้ อาจจะเป็นสัญญาณเบื้องต้นของอาการ ‘เสพติดหนี้ (Debt Addiction)’ ที่จะส่งผลร้ายให้กับชีวิตในระยะยาว

Credits: debtconsolidationusa.com

//อะไรคืออาการ ‘เสพติดหนี้’?

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า อาการเสพติดหนี้ (Debt Addiction) นั้น มีลักษณะที่แตกต่างกันกับอาการเสพติดการช็อปปิ้งหรือเสพติดเหล้าอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ผู้ที่เข้าข่ายเสพติดหนี้นั้น จะบ่ายเบี่ยง มองข้าม และไม่ใส่ใจในสวัสดิภาพทางการเงินของตัวเอง ไม่พยายามรับรู้ถึงปัญหาทางรายรับ และค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในแต่ละเดือน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องปมด้อยในรายรับ หรือไลฟ์สไตล์ที่มีค่าใช้จ่ายอันสุดแพง และมักจะมองว่า การกู้ยืมจากแหล่งต่างๆ เป็นทางรอด โดยไม่ได้คิดคำนึงถึงหนทางในภายภาคหน้า อีกทั้งยังเชื่อว่า เมื่อถึงเวลาคับขัน จะมีใคร หรืออะไรบางอย่าง ที่มาช่วยปลดให้พ้นภาระดังกล่าวได้โดยง่าย เราจึงมักเห็นคนที่เสพติดหนี้นั้น ใช้จ่ายเกินตัว ติดหนี้บัตรเครดิตซ้ำซาก รวมถึงไม่ได้มีแผนการที่จะพาตัวเองให้หลุดพ้นจากสภาวะดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะในระยะสั้น หรือระยะยาวก็ตาม

Credits: choosehelp.com

//หนทางแก้ไข

อาการเสพติดหนี้ เช่นเดียวกับอาการและสภาวะทางจิตทั่วไป เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมและสถานการณ์หนึ่งๆ ที่เวียนซ้ำอย่างไม่จบสิ้น และการที่จะพาตัวเองให้หลุดพ้นจากสภาพดังกล่าวได้นั้น ต้องเปิดใจและยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวนั้นมีตัวตนอยู่จริงๆ บริหารค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนอย่างเป็นระบบ พยายามปลดหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป (การพูดคุยกับเจ้าหนี้หรือธนาคารเพื่อผ่อนผัน อาจไม่ใช่สิ่งที่ดูดีนัก แต่เมื่อเทียบกับการปล่อยปละให้ชีวิตติดตัวแดงหรือเสียเครดิตแล้ว มันดีกว่ากันมาก…) รวมถึงพิจารณากระแสเงินสดที่จับต้องได้ ‘จริงๆ’ เป็นหนทางในการจับจ่ายใช้สอยหลัก

Credits: stratejoy.com

//สินเชื่อเพดานต่ำ กับแนวโน้มของอาการเสพติดหนี้ของคนไทย

อนึ่ง ที่เราต้องเอาเรื่องอาการเสพติดหนี้มาพูดคุยกันในวาระนี้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า หนี้ภาคครัวเรือนต่อหัวของคนไทยนั้น อยู่ในระดับที่สูงและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นโดยตลอด อีกทั้งนโยบายกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการปล่อยสินเชื่อเพดานต่ำจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่เกิดขึ้นนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวะที่อันตรายสำหรับคนที่มีอาการเสพติดหนี้ (หรือมีแนวโน้มที่จะเสพติดหนี้) และมีความเสี่ยงที่เหตุการณ์อย่างวิกฤติต้มยำกุ้งหรือ Subprime จากสหรัฐอเมริกาฯ จะกลับมาอีกครั้ง

ท้ายที่สุดนี้ ขึ้นชื่อว่า ‘การเสพติด’ แล้วนั้น ไม่ใช่อะไรที่เคยให้คุณ โดยเฉพาะกับ ‘หนี้’ ที่พร้อมจะทำให้คนๆ หนึ่งดิ่งลงสู่หนทางที่ไม่อาจหวนกลับ ขอให้จำไว้เสมอว่า ทุกการใช้จ่ายคือการลงทุน และไม่เคยมีอะไรที่ได้มา ‘ง่าย’ และ ‘ฟรี’ ….