สวัสดีครับ เราก็เดินทางมาถึงกลางเดือนกันแล้ว ทางเราก็ไม่พลาดที่จะนำเสนองาน DIY ดีๆ เพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกเว็บไซต์ Dot property ได้นำไปเป็นแนวทางกันบ้าง กับการทำ ตู้เก็บรองเท้า บานสไลด์แบบ Out Door ที่สุดจะทนปลวก แข็งแรง และนำมานั่งเล่นชิลๆกันได้ โดยบทความดีๆในครั้งนี้มาจากคุณ Dr.Chan สมาชิกจากเว็บบอร์ดออนไลน์ยอดนิยมอย่าง Pantip.com
พร้อมแล้วก็ไปชมกันเลยครับว่าขั้นตอนการทำ ตู้เก็บรองเท้า จะเป็นยังไง
เริ่มจากผมต้องการที่นั่งแบบชิลๆ หน้าบ้านสักชุด นั่งรอคนในบ้านเดี๋ยวเดียว คิดว่าจะใส่รูปแบบและฟังก์ชั่นอะไรเพิ่มนอกจากนั่งได้ ก็พอดีว่า ตู้รองเท้าในบ้านเริ่มล้น จึงตัดสินใจให้ outdoor bench เป็น shoes cabinet ไปเลย
โดยมีเงื่อนไขที่ต้องการเพิ่ม
-ทนสภาพอากาศนอกบ้าน และ ดูแลทำความสะอาดง่าย (ปิดผิวลามิเนต)
-พอสำหรับเศษไม้และอุปกรณ์ที่มี (ใช้ไม้ไม่เยอะ ใช้ระบบลางบานสไลด์แบบง่ายประหยัด)
-ทนปลวก (ไม้อัดยาง)
-ง่ายๆ แต่มีสไตล์ที่ลงตัว หากมีคนอยากทำก็เป็นประโยชน์เอาไปทำได้ง่าย (ตัดไม้ง่าย ปริมาณไม่มาก ประกอบง่าย)
ตัวหลักคือ ชุดติดบานสไลด์ราคาร้อยกว่าบาทจากโฮมโปรที่ผมซื้อติดบ้านไว้เสมอ เวลาจะทำอะไรก็ไม่ต้องวิ่งออกไปซื้อ
ต่อไปก็ออกแบบตัดไม้ให้ประหยัดไม่เหลือเศษ งานนี้จบในไม้อัดยางหนา 15 มม.แผ่นเดียว 720 บาท
เริ่มจากการตัดแค่โครงหลัก5แผ่นแรกก่อน คือ แผ่นบน-ล่าง แผ่นข้างซ้าย-ขวา แผ่นกลาง
ต่อไป เซาะร่องแผ่นบน-ล่าง เพื่อให้ชุดล้อสไลด์ติดบานวิ่งได้ โดยใช้ทริมเมอร์+ดอก6มม. เซาะลึก 4-5 มม.ก็พอ ระยะขอบนอกของร่องบานนอกอยู่ห่างของแผ่นไม้ 1.5 ซม. เซาะให้เสร็จทั้ง2แผ่น ระยะที่ตั้งจะได้เท่ากัน ขอบนอกของร่องบานในอยู่ห่างร่องบานนอก1.5ซม. ก่อนเซาะ กำหนดให้ดี ว่าแผ่นไม้ด้านไหนบนล่าง จะเอาผิวไม้ที่ไม่เหมือนกัน 2 ด้าน อันไหนไว้นอกไว้ใน ของผมตั้งใจปิดผิวลามิเนตจึงเอาผิวไม้ด้านสวยไว้ในตู้เพื่อให้ลงสีง่าย ด้านหยาบไม่สวยไว้ด้านนอกเพราะยังไงก็ทากาวปิดลามิเนต
หมายเหตุ…..ในรูป ผมเซาะร่องบานในห่างบานแรกไปหน่อยคือ2ซม. (เอาแค่1.5พอครับ จะได้ไม่มีช่องห่างระหว่างบานให้ฝุ่นเข้าเยอะ)
ประกอบโครงหลักจากไม้5แผ่น ใครมีเครื่องยิงตะปูก็ยิง ใครไม่มีเครื่องยิง ก็ตะปูตอกหรือใช้สกรูว์เกลียวปล่อยหัวเทปเปอร์เบอร์ 7 ยิงให้ตรง ยิงให้หัวจมจม เทคนิกง่ายๆคือ ควรใช้ดอกสว่านเล็กๆสัก 2 มม.ยิงนำก่อนให้ตรง เวลาอัดสกรูว์เบอร์ 7 ลงไปจะแน่นพอดี ไม่แน่นเกินจนเบียดเนื้อไม้อัดให้ป่องปริออก การยิงให้หัวจมถ้าไม่มีสว่านไขควงแบบอิมแพคก็ใช้ดอก 7 มม.เจาะขยายปากรูตื้นๆไว้
ต่อไปก็ใส่แผ่นกลางให้ตรง วัดระยะให้ดีๆแล้วตีเส้นไว้ที่แผ่นบน-ล่าง ค่อยประกอบ ถึงตรงนี้ประกอบเสร็จ 5 แผ่น ให้จับฉากด้วยแคลมป์รอขั้นต่ำ 6-12 ชั่วโมง แล้วแต่สภาพอากาศ ให้กาวเซตตัว ก็จะได้โครงสร้างที่เป็นกล่องมุมฉากเป๊ะๆ ผมจะลงสีรองพื้นไว้เลยจะได้ทาง่ายๆในเบื้องต้นสัก 1 เที่ยว แล้วค่อยวัดระยะให้แม่นยำ เพื่อตัดแผ่นไม้มาทำชั้นหิ้งแบ่งพื้นที่ใช้งานเป็น 2 ชั้น เทคนิกการยิงตะปูให้ตรง ไม่เฉียงก็หาแผ่นไม้มารองที่ตัวปืนให้มุมยิงได้ฉากไม่กระดกหน้ากระดกหลัง ……ลืมบอกว่า ให้ตัดไม้กว้างสัก 4-5ซม. มาทำโครงขวางเพื่อเสริมความแข็งแรงรองนั่งด้านในตู้ของแผ่นบนด้วยนะครับ (ตามรูปล่างขวา ศรเหลือง)
ต่อไปก็วัดระยะตัดไม้ทำหน้าบานเลื่อน ขนาดความสูงของบานน้อยกว่าความสูงภายในตู้ 0.5 ซม. ขนาดความกว้างของบานเท่ากับ 1/2 ของความกว้างในตู้+ไปอีก 1-2 ซม. เพื่อให้บานซ้อนเหลื่อมเวลาปิด การคว้านรูเพื่อใส่ล้อเลื่อน ใช้หัวคว้านมาตรฐาน35มม. อย่าคว้านลึก เอาลึกแค่เท่ากับความหนา2จาก5ชั้นของแผ่นไม้อัดพอ ไม่งั้นเวลายึดสกรูว์จะโผล่อีกด้าน ระยะเจาะ กำหนดให้ปลายหัวเจาะห่างจากขอบด้านข้างประมาณ 7 ซม. และห่างจากขอบไม้บนล่างด้านละ12.5มม.(อันนี้ต้องเป๊ะ)
จะเห็นว่าเวลาติดตั้งชุดล้อเลื่อน มันจะหนาเกินแผ่นไม้ออกสักหน่อย ไม่มีผลอะไรกับการเลื่อนใช้งานนะครับ ที่เป็นแบบนี้เพราะ เราเลือกใช้ไม้แผ่นเดียวทำหน้าบานและความหนาแค่ 15 มม. ถ้าอยากให้จมมิดไม่เกินต้องใช้ความหนา 20-25 มม. ถ้าบานนอกกับบานในมีระห่างกันมาก อยากปิดไม่ให้ฝุ่นเข้าตู้เยอะ ก็หาเศษฟองน้ำโฟมที่ลองเครื่องใช้ไฟฟ้าในกล่อง มาตัดปิดขอบด้านในของบานตามรูปล่างซ้ายมือได้ครับ
ที่เหลือก็แค่จะเลือกทำสีหรือปิดผิวใครที่จะทำไว้ใช้ในบ้านแบบทำสี ก็ต้องเลือกเอาผิวไม้ด้านที่เรียบสวยไว้นอกนะครับ ใครที่จะทำไว้ใช้นอกบ้าน ปิดผิวจะทำความสะอาดง่ายทนสภาพอากาศดีกว่า แต่ถ้าโดนแดดเยอะลามิเนตอาจพองได้หลัง3ปี (โดนละอองฝนบ้างไม่เป็นไร ถ้าโดนฝนสาดเข้าตรงๆ ก็ต้องออกแบบรางให้ระบายน้ำได้ด้วย)
ผมใช้ไม้คิ้วท้องปลิงเล็กๆ ติดขอบบน 3 ด้าน ตัวตู้ ภายใน ด้านหลัง และขอบไม้อัดด้านหน้า โป๊ว+ทาสีขาว ด้านข้างปิดลามิเนตสีขาว ด้านบน+หน้าบาน ปิดลามิเนตสีน้ำตาลลาย
ถ้าเราตัดไม้ได้ฉาก ประกอบได้ฉาก หน้าบานสไลด์ก็จะแนบขอบตู้เป๊ะๆ แต่ถ้าไม่เป๊ะก็แต่แก้ที่หน้าบานได้ครับ(หลังไมค์มาได้ครับถ้าอยากรู้เทคนิค)