ต่อจากตอนที่แล้วที่เราพูดถึงเทรนของการถือสองสัญชาติ ( Dual Citizenship ) ของเหล่าบรรดาเศรษฐี ในตอนนี้แนวทางในการเลือกสัญชาติที่สองเพื่อเป็นอภิสิทธิ์ของคุณนั้นควรจะต้องพิจารณาปัจจัยอะไรบ้าง
*อิสระในการเดินทางเข้าประเทศต่างๆ เป็นปัจจัยอันดับต้นๆที่ต้องพิจารณาว่าพาสปอร์ตประเทศนั้นๆที่คุณอยากพิจารณาขอสัญาชาติสามารถเดินทางได้กี่ประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า พาสปอร์ตประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในกลุ่มสหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ นอร์เวย์หรือกลุ่มประเทศ EU ถือว่ามีอภิสิทธิ์ในการเดินทางอยู่ในลำดับต้นๆของโลก โดยสามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯและหลายๆประเทศได้โดบยไม่ต้องขอวีซ่า ทั้งนี้คุณสามารถเปรียบเทียบอันดับหรือ Ranking ของพาสปอร์ตของประเทศต่างๆในโลกนี้ได้ว่าสามารถเดินทางเข้าได้กี่ประเทศได้จาก Passport Index
*ความยืดหยุ่นในการลงทุนนอกประเทศของผู้ที่ถือสัญชาติ ยกตัวอย่างพลเมืองสหรัฐอเมริกานั้นจะต้องรายงานบัญชีที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการเงินหรือรายได้ที่มาจากนอกประเทศ เนื่องด้วยกฏหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบและป้องกันการเลี่ยงภาษีของผู้มีรายได้สัญชาติอเมริกันที่มีแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ และเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาษีกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นตรวจเช็คให้ดีว่าสัญชาติที่สองที่คุณต้องการถือครองนั้นให้ความยืดหยุ่นในการลงทุนกับคุณได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณถือสัญชาติสหรัฐอเมริกาแม้จะมีอิสระในการเดินทางจากพาสปอร์ตที่ถูกจัดอันดับเป็นลำดับต้นๆของโลก แต่ก็แลกมาด้วยการตรวจสอบที่เข้มงวดจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
*สิทธิประโยชน์และความรับผิดชอบของการเป็นพลเมือง เป็นสิ่งที่ควรคำนึงเช่นกัน เช่น สวัสดิการด้านการศึกษาและการดูแลด้านสุขภาพ ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่มประเทศ EU จะให้สิทธิ์ในการเข้าถึงสวัสดิการด้านการศึกษาและสุขภาพดีเป็นอันดับต้นๆของโลกจึงทำให้ประชากรในประเทศเหล่านั้นมีอายุขัยเฉลี่ยที่ค่อนข้างสุง แต่ก็แลกมาด้วยอัตราภาษีที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ประเทศสิงคโปร์และอิสราเอลกำหนดว่าคุณจะต้องเกณฑ์ทหารในฐานะที่คุณเป็นพลเมือง เพราะฉะนั้นทำการตรวจสอบสิทธิประโยชน์และภาระความรับผิดชอบต่างๆให้ดี
*ภาระทางด้านภาษี เป็นสิ่งที่ต้องตรวจเช็คให้ดีเพราะฐานภาษีรายได้ส่วนบุคคลและนิติบุคคลในแต่ละประเทศมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน ที่สำคัญกว่าคือถ้าคุณไม่ต้องพำนักในประเทศที่คุณได้สัญชาติเหล่านั้นคุณต้องเสียภาษีหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นในไทยมีกำหนดว่าถ้าคุณมีรายได้จากนอกประเทศแต่คุณอาศัยอยู่ในไทยน้อยกว่า 180 วันคุณไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ในขณะที่พลเมืองสหรัฐอเมริการายได้ทั้งหมดทั้งในและนอกประเทศนั้นต้องนำมาคิดเพื่อเสียภาษีไม่ว่าคุณจะพักอาศัยในสหรัฐอเมริกากี่วันหรือไม่ก็ตาม เพราะฉะนั้นพิจารณาให้ดีการถือสองสัญชาติถ้าประเทศไหนรัฐบาลมีความยืดหยุ่นด้านภาษีก็เป็นข้อควรพิจารณา มิเช่นนั้นคุณต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลทั้งสองประเทศที่คุณถือสัญชาติอยู่
*อนุญาตให้ถือครองได้หลายสัญชาติ แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีพาสปอร์ตที่มีอิสระในการเดินทางไปได้ในหลายประเทศทั่วโลก แต่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่อนุญาตให้พลเมืองสิงคโปร์ถือสองสัญชาติโดยคุณจะต้องสละอีกสัญชาติหนึ่งเพื่อถือครองสัญชาติสิงคโปร์ ซึ่งนี่ก็จะเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องการถือครองสัญชาติที่สองที่ต้องการอภิสิทธิ์ในการเดินทาง การลงทุนและดำเนินธุรกิจและผลประโยชน์ด้านการประหยัดภาษี สำหรับในไทยนั้นกฏหมายได้ระบุว่าห้ามถือสองสัญชาติแต่ในทางปฏิบัตินั้นสามารถทำได้และไม่ได้มีการตรวจสอบจากรัฐบาล
ทั้งนี้การได้มาซึ่งสัญชาติที่สองเพื่อให้ได้สิทธประโยชน์ต่างๆนั้นมีหลายวิธีทั้งการยืนขอ และแต่งงานกับบุคคลในสัญชาตินั้นๆ หรือทำการได้สัญชาติมาโดยการลงทุน โดยในตอนหน้าเราจะมาพูดถึงสิทธิ์การเป็นพลเมืองของประเทศสหภาพยุโรป (EU Citizenship) ว่าทำไมถึงได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆของโลก