DotProperty.co.th

มาดู พิมพ์เขียว มหานครการบิน EEC เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC ) มีหัวใจหลักสำคัญคือ การพัฒนาพื้นที่ “สนามบินอู่ตะเภา” ให้เป็น “เมืองการบิน” ครอบคลุมพื้นที่ 6,500 ไร่ มูลค่าลงทุน 200,000 ล้านบาท

ประกอบด้วย 6 โครงการ ได้แก่ 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Terminal 3 and Airport Facilities) 2.ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) 3.ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Precinct) 4.กลุ่มอาคารคลังสินค้า (Cargo Village) 5.ธุรกิจขนส่งศูนย์สินค้าทางอากาศ และโลจิสติกส์/เขตประกอบการเสรี Free Trade Zone (Cargo Facilities) และ 6.ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการบิน (Aviation Training Center) ทำให้เมืองการบินแห่งนี้กลายเป็น “มหานครการบิน” เชื่อมโยงระหว่าง EEC กับโลจิสติกส์ทางอากาศ อีกทั้งยังทำให้เกิดการเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ระหว่างดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา

อันนำไปสู่การเป็นศูนย์การบินนานาชาติของเอเชียที่มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 15 ล้านคน ภายใน 5 ปี เพิ่มเป็น 30 ล้านคน ภายใน 10 ปี และ 60 ล้านคน ในอีก 15 ปี ขณะที่ในปัจจุบันรองรับได้ 2 ล้านคน

นอกจากจะส่งผลให้ประเทศไทยกลับมาได้เปรียบทางอากาศอีกครั้ง ยังเป็นการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค “ASEAN Connectivity 2025” ทั้งเชื่อมกลุ่มประเทศ CLMV (ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พนมเปญ โฮจิมินห์ซิตี ฮานอย เวียงจันทน์) และอาเซียนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ มะนิลา จาการ์ตา และบรูไน เชื่อมจีนตั้งแต่คุนหมิง เจิ้งโจว ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง ญี่ปุ่น (โตเกียว โอซากา) โซล และไทเป และเชื่อมอินเดีย (นิวเดลี มุมไบ เชนไน ไฮเดอราบาด)

 

เปิดแผนแม่บทเมืองการบิน

“คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยถึงแผนแม่บทโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยเฉพาะ“เมืองการบิน” ว่าลำดับแรกของแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินจะเริ่มจาก1ใน6โครงการก่อนคือ“ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(MRO)” อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน(TOR)ให้แล้วเสร็จก่อนเดือน ต.ค. 2561

จึงจะประกาศเชิญชวนนักลงทุน เปิดTORใน ต.ค. และเปิดขายซองใน ธ.ค. ก่อนสิ้นปีต้องได้นักลงทุน และตามกรอบเวลากำหนดให้ลงนามในสัญญาภายใน ก.พ. 2562

สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) จะมีพื้นที่ราว 500 ไร่ โดยในพื้นที่ 200 ไร่ จะเป็นการร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการระหว่าง “การบินไทยกับแอร์บัส”

ซึ่งกำลังจะลงนามความตกลงสัญญากรอบการร่วมทุน ระหว่าง บมจ.การบินไทย และบริษัท Airbus Commercial Aircraft ในการโรดโชว์ของคณะนายกรัฐมนตรี ที่เมืองตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในวันที่ 22 มิ.ย. 2561 นี้

นอกจากนี้มีพาร์ตเนอร์อีกหลายราย โดยแอร์เอเชียสนใจ 60 ไร่ รวมถึงสิงคโปร์ที่เข้ามาเจรจาภายใต้รูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) การทำ MRO จะทำควบคู่กับการสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 และรันเวย์ที่ 2 โดยอยู่ระหว่างจัดทำ TOR จ้างผู้ออกแบบ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563 เสร็จปี 2566

“เมื่อแผน MRO เดินทางมาได้ระยะหนึ่ง กพอ.จะเริ่มทำแผนสนามบินอู่ตะเภาอีกโครงการถัดไป”

สำหรับสนามบินอู่ตะเภา แบ่งออกเป็นเขตชั้นในมหานครการบินภาคตะวันออก 10 กม. รอบสนามบิน 140,000 ไร่ มีสัตหีบ บ้านฉาง เป็นศูนย์กลาง เขตชั้นกลาง 30 กม. จากสนามบินเมืองพัทยาถึงเมืองระยอง แหลมฉบัง มีรถไฟความเร็วสูงใช้เวลาเดินทาง 17-19 นาที และถนนไม่เกิน 40 นาที เขตชั้นนอก 60 กม. จากสนามบินชลบุรี และระยอง ตั้งแต่ศรีราชา บ้านค่าย บ้านบึง รถไฟความเร็วสูง 30-35 นาที ถนนไม่เกิน 60 นาที

การขยายตัวมี 2 แนวทาง แนวที่ 1.ขยายการท่องเที่ยวและเมืองทันสมัยน่าอยู่ 1.1 สนามบิน-สัตหีบ บางสะเหร่ จอมเทียน พัทยา ศรีราชา 1.2 สนามบิน-บ้านฉาง-มาบตาพุด-ระยอง-เกาะเสม็ด ส่วนแนวที่ 2.ขยายธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย และบริการ 2.1 สนามบิน-ตามถนน 331 (60 กม.ถึงศรีราชา บ้านบึง)

2.2 สนามบิน-นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-ถนน 3191 และถนน ระยะเวลาการขยายตัว 5 ปีแรก จะขยาย 10 กม.รอบสนามบิน (140,000 ไร่) สัตหีบ บ้านฉาง บางสะเหร่ จอมเทียน ระยะต่อไป 5-10 ปี ขยายออกเขตชั้นกลาง 30 กม. จากสนามบิน จากเมืองพัทยาถึงเมืองระยอง เป็นเขตพัฒนาเดียวกัน กระทั่ง 10-15 ปี ถัดไปจะขยายสู่เขตชั้นนอก 60 กม. จากสนามบิน

 

ปักธง 6 เรื่องหลักสู่เป้าหมาย

การพัฒนาต้องดำเนินการ 6 เรื่อง คือ 1.ศึกษาภาพรวมความเชื่อมโยงจากเมืองการบินสู่มหานครการบินภาคตะวันออก (เสร็จแล้ว) 2.เร่งรัดพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกให้เสร็จภายในปี 2566 จัดทำ TOR ให้เสร็จใน ก.ย. 2561 และประกาศเชิญชวน ต.ค. 2561 คาดว่าจะได้ผู้ลงทุน ม.ค. 2562 โดยระยะแรกแล้วเสร็จปี 2566 พร้อมรถไฟความเร็วสูง

3.เร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมอากาศยาน และอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4.เร่งรัดดำเนินการตามแผนการท่องเที่ยว EEC 5.จัดวางการคมนาคมขนส่งในระยะ 10-30-60 กม.รอบสนามบิน 6.ให้กรมโยธาและผังเมืองทำผังการใช้พื้นที่ตามแผนที่ได้วางไว้

อย่างไรก็ตาม EEC เริ่มจากการวางโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและด้านดิจิทัล กำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยปรับเพิ่ม 5 อุตฯ เดิม (first S-curve) มียานยนต์แห่งอนาคต, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อาหารแห่งอนาคต, การท่องเที่ยวระดับโลก

และเพิ่ม 5 อุตฯ ใหม่ (new S-curve) ได้แก่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, อากาศยานและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, การแพทย์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาวิถีชีวิตแบบใหม่ด้วยการท่องเที่ยว

ดังนั้นภายใน 5 ปีแรก โครงสร้างพื้นที่ต้องเสร็จมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ ทางหลวง มอเตอร์เวย์ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ขณะที่ 10 อุตฯ เป้าหมายจะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา

 

5 ปี ลงทุนทะลุ 1.7 ล้านล้าน

และคาดว่าแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนใน EEC จากภาครัฐและเอกชนภายใน 5 ปี มีมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท จากเป้าเดิมที่ 1.5 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เงินลงทุน 200,000 ล้านบาท (จากเดิม 158,000 ล้านบาท)

ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ลงทุน 150,000 ล้านบาท (จากเดิม 88,000 ล้านบาท) ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ลงทุน 11,100 ล้านบาท (จากเดิม 10,150 ล้านบาท) อุตสาหกรรมเป้าหมาย ลงทุน 500,000 ล้านบาท สนามบินอู่ตะเภาเงิน 200,000 ล้านบาท พัฒนาเมืองใหม่ 400,000 ล้านบาท ท่องเที่ยว 200,000 ล้านบาท รถไฟรางคู่ 64,300 ล้านบาท มอเตอร์เวย์ 35,300 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดต้องเดินคู่ขนานในการทำขอบเขตงาน (TOR) ไปพร้อม ๆ กัน

 

ที่มา prachachat.net

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เราหามาเสริฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก …