DotProperty.co.th

Good Debt, Bad Debt: ความต่างระหว่างหนี้ดี และหนี้เลว

ถ้าหากจะกล่าวกันถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘หนี้’ แล้วนั้น แน่นอนว่าคงไม่มีใครที่อยากจะให้มันเดินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปในชีวิตกันสักกี่มากน้อย (การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐสุด…) ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า ความเป็นจริงข้อนี้ คงไม่จำเป็นต้องตอกย้ำซ้ำความอันใดให้เสียเวลา เราต่างขยาดและเบือนหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า ‘หนี้’ กันในทุกจังหวะและวาระที่สามารถกระทำได้

จะมากจะน้อย การมีเงินติดกระเป๋าแบบภาวะ ‘ปลอดหนี้’ ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีเสมอ…

แต่ในโลกแห่งการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนด้านอสังหาฯ นั้น ก็ยากนักที่จะหลีกหนี้การเป็น ‘หนี้’ ในจังหวะชั้นต้น ซึ่งถ้ามองโดยเผินๆ แล้วอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ชวนให้สบายอกสบายใจ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป หนี้บางประเภท ก็อาจจะเป็น ‘สิ่งจำเป็น’ ที่จะก่อให้เกิดการเพิ่มพูนงอกเงยขึ้นได้ในท้ายที่สุด จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจประเภทของหนี้ ที่สามารถมีขึ้นได้ ให้ถ่องแท้และครบถ้วนกันสักครั้ง

//หนี้ดี และหนี้เลว

อ้างอิงจากแนวคิดของ โรเบิร์ต ที คิโยซากิ นักลงทุนอสังหาฯ ชื่อดัง เจ้าของซีรีส์หนังสือ ‘พ่อรวยสอนลูก’ นั้น ลักษณะของการเป็นหนี้ มีอยู่สองแนวทางที่สำคัญคือ

-หนี้ดี: หนี้ชนิดนี้ คือหนี้ที่ผู้กู้หรือผู้ลงทุน มั่นใจว่า จะสามารถก่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดีพร้อมและงอกงามได้ในท้ายที่สุด เช่น การลงทุนซื้ออุปกรณ์ชงและบดสำหรับร้านกาแฟ ที่มั่นใจว่าจะสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาไม่นาน หรือการกู้สินเชื่ออสังหาฯ เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับการลงทุน

-หนี้เลว: ตรงตัวตามชื่อ คือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อะไร มีแต่จะเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เช่น การเป็นหนี้เพื่อซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือยที่มูลค่าลดลงตามระยะเวลา หรือใช้จ่ายเกินตัวจนขาดสภาพคล่อง เป็นต้น

//หนี้ดี และ Mindset แบบนักลงทุน

สำหรับเราคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในโลกแห่งการลงทุนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน การติดหนี้ ดูจะเป็นสภาวะที่ยากจะยอมรับ กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่มาก หลายคนจึงปลงใจว่า ถ้าจะซื้ออสังหาฯ สำหรับการอยู่อาศัยทั้งที จ่ายมันเป็นเงินสดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เสียจะดีกว่า

แต่สำหรับนักลงทุนที่เป็นงานและมีความฉมังในแวดวง การเป็นหนี้ดี ถือได้ว่าเป็นการลดภาระตามหลักพลังทวี (Leverage) ดังที่เราได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านั้น บวกรวมกับการค้นหาดีลอสังหาฯ ที่ดีที่สุด ทำให้หลายครั้ง การลงทุนของพวกเขา แทบไม่ได้เกิดขึ้นจากต้นทุนของตนเองเลยแม้แต่นิด หากแต่หมุนเวียนด้วยเงินทุนที่มีอยู่ในระบบ สร้างหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้อย่างไม่รู้จบ (เมื่อรายได้ สามารถผ่อนชำระหนี้สินเชื่อได้อย่างครบถ้วนเหลือเป็นกำไรได้ในแต่ละเดือน) และมีช่องทางสำหรับ ‘เล่น’ ได้คล่องตัวมากขึ้น แน่นอนว่าเราสามารถนำหลักคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้ในบางระดับ ที่จะสามารถเกิดผลต่างที่น่าสนใจได้ไม่น้อย

//กับดัก ‘หนี้ดี’

แต่ก็เช่นเดียวกับทุกการลงทุน การตัดสินใจจะเดินเข้าสู่ดีลและแบกรับ ‘หนี้ดี’ นั้น ไม่ได้พิจารณาเพียงแค่บริบทไม่กี่อย่าง หากแต่ต้องมองอย่างรอบด้าน คำนวณความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วน เพราะหลายครั้ง ดีลที่น่าสนใจ ที่จะสามารถเกิดผลกำไรในตอนท้าย อาจมีเหตุผิดพลาดจากทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ที่จะเปลี่ยนให้หนี้ดีกลายเป็น ‘หนี้เลว’ ได้ในพริบตา (ซึ่งจะทำให้คุณต้องเสียเวลาแก้ไขสถานการณ์กันอีกยกใหญ่…)

//ความคุ้มค่าจากการเป็น ‘หนี้ดี’ และความเสียหายจาก ‘หนี้เลว’

เช่นนั้นแล้ว เราควรจะมองหาโอกาสที่จะคว้า ‘หนี้ดี’ มาไว้กับตัว และหลีกห่าง ‘หนี้เลว’ ให้พ้นทางไปเลยหรือไม่? ขอให้จำไว้ว่า หนี้ จะมากจะน้อย ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยอดเยี่ยมหรือสมควรให้เกิดแก่ชีวิตของใคร และไม่มีหนี้ชนิดใดที่จะ ‘ดีเต็มร้อย’ หรือ ‘เลวต่ำช้า’ มันขึ้นกับว่า บริบทและปัจจัยด้านเวลากับความจำเป็นของคุณนั้น ตกอยู่ในสภาวะใด เพราะหลายครั้ง ความจำเป็นก็อาจจะทำให้คุณต้องมี ‘หนี้เลว’ ที่จำต้องจ่าย และหลายสถานการณ์ ‘หนี้ดี’ ก็ไม่ใช่อะไรที่สมควรกระโดดลงไปแบบหน้ามืดตามัว ขอให้พิจารณาความพร้อมเป็นสำคัญ และจำเอาไว้ว่า … ทุกสิ่ง ยืดหยุ่น และผสมผสานได้ ไม่เว้นแม้แต่สิ่งที่เรียกว่า ‘หนี้’ เองก็ตาม