Happy Money สุขเงิน สร้างได้ หากรู้วิธีการเก็บออมเงินก่อนสายเกินแก้

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลาปีกว่า และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงในเร็ววัน ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนโยบายการเงินและการคลัง ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วง รวมถึงเร่งเพิ่มความรู้ความเข้าใจในด้านการบริหารการเงิน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเป็นจุดอ่อนในด้านทักษะแขนงหนึ่งของคนไทย ผ่านโครงการที่ชื่อว่า Happy Money สุขเงิน สร้างได้ สร้างภูมิคุ้มกันการเก็บออมเงินให้คนไทย

Image credit : set.or.th
Image credit : set.or.th

โดยโครงการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นโดยร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย โดยมุ่งเน้นในการดูแลและให้ความสำคัญใน 4 ประเด็นใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

“ภาวะหนี้สินครัวเรือนคนไทยต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น”

โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมาหลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทางภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะแม้ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนมีการแพร่ระบาด แต่ดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น  เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางด้านสถานะทางการเงินของคนไทยที่เก็บออมเงินน้อย เมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติจึงเกิดปัญหาหนี้สินต่างๆ รุนแรงทำให้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมาให้ความช่วยเหลือ อาทิ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของแบงก์ชาติ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้สามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ นำไปเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตไปได้

“ภาวะเกษียณทุกข์” 

ประเทศไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่สถานะประเทศสังคมสูงวัยและมีแนวโน้มที่อัตราส่วนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเตรียมความพร้อมในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในเรื่องวิธีเก็บออมเงินสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทางภาครัฐให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมา ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการออกแคมเปญ “เก็บออมเงินตั้งแต่วัยทำงาน เพื่อใช้จ่ายวัยเกษียณ” ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบ e-Learning เพื่อให้สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ได้เข้าถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสมและสามารถบริหารเงินออมในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้อย่างเข้าใจ และบรรลุเป้าหมายในการมีเงินออมยามเกษียณที่เพียงพอ

“ภาวะการออมของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ” 

โดยจากข้อมูลการสำรวจการออมของครัวเรือนคนไทยปี 2561 พบว่า คนไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่งมีพฤติกรรมใช้เงินก่อนออมรวมทั้งมีการออมไม่สม่ำเสมอ จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีพฤติกรรมเก็บออมเงินก่อนใช้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เอง เป็นรากฐานของปัญหาการเงินในภาคประชาชนต่างๆ และถือเป็นภารกิจหลักอันสำคัญที่ทางภาครัฐจะได้มีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์รวมถึงการเสริมทักษะความรู้ เกี่ยวกับวิธีเก็บออมเงินให้กับประชาชน โดยที่ผ่านมา กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) ได้เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าว โดยการมุ่งเสริมสร้างระบบบำนาญให้แก่ผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร นักเรียน นิสิตและนักศึกษา ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิก กอช. จะได้รับเงินสมทบเพิ่มจากรัฐตามช่วงอายุของสมาชิก สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี และเงินออมสะสมสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน  ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นรูปธรรม ที่ช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการสร้างวินัยการออมเพื่อการเกษียณอายุได้อย่างมีคุณภาพ 

“การขาดทักษะทางการเงินของคนไทย”

ในผลสำรวจของหลายหน่วยงานสะท้อนภาพปัญหาใหญ่ของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน นั่นคือการที่คนไทยมีทักษะความรู้ทางการเงินและเก็บออมเงินต่ำมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ อันเนื่องมาจากการขาดการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ทางการเงินเหล่านี้ให้เป็นเรื่องใกล้ตัวและให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญในการมีความรู้ความเข้าใจในด้านการเงิน และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มคุณค่าในทุกๆ ด้านของชีวิตประจำวัน  โดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการจัดทำ  e-Learning ขึ้นมาให้ความรู้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืม บุคลากรในสถานศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจทั่วไป ได้เรียนรู้การวางแผนการเงิน การลงทุน และความเป็นผู้ประกอบการ ในชื่อหลักสูตรว่า SET e-Learning ซึ่งมีให้เลือกเรียนกว่า 15 หลักสูตร ด้วยกัน รวมถึงการให้ความรู้แก่สาธารณะผ่าน Happy Money Application ตัวช่วยบริหารจัดการการเงินแบบง่ายๆ ที่สามารถใช้เป็นคู่มือในการวางแผนหรือค้นหาข้อมูลต่างๆ ในด้านการเงิน

โครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” จึงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงที่เหมาะสม เพราะการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมาอย่างมั่นคงนั้นจะต้องทำควบคู่กับการสร้างศักยภาพของประชาชน  และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ทักษะความรู้ความเข้าใจในการเก็บออมเงินนั้น เป็นองค์ความรู้แขนงหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าองค์ความรู้ด้านอื่นๆ ที่ทุกคนควรหันมาใส่ใจและเริ่มทำความเข้าใจอย่างถูกต้องเสียแต่วันนี้ เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงแก่ชีวิต และยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับชาติด้วยเช่นกัน

ที่มา :  https://www.thairath.co.th/business/finance/2075251
https://mgronline.com/news1/detail/9640000038232