Neighbor from Hell: แก้ปัญหาเพื่อนบ้านตัวป่วนด้วยวิธีทางกฏหมาย

การอยู่ร่วมกันในสังคม มันย่อมยากที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะกระทบกระทั่งกัน มากน้อยแตกต่างกันไป แน่นอนว่าการ ‘ปะทะ’ เหล่านี้ เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่สาธารณะ จนถึงในละแวกที่อยู่อาศัย บ้านพัก คอนโดมิเนียม ที่เรามักจะเห็นข่าวคราวตั้งแต่การมีปากเสียงเล็กน้อย เสียงดับรบกวน จอดรถขวางทาง จนถึงสงครามเย็นใส่กันและความรุนแรงจนถึงระดับเลือดตกยางออก ที่ทำให้สวรรค์แห่งการอยู่อาศัยต้องกร่อนไปเพราะ ‘เพื่อนบ้านสายป่วน’ ทั้งหลายเหล่านี้

แต่ก่อนที่คุณจะตีอกชกตัว ด่าว่าความอยุติธรรมของโลก และตัดสินใจวิ่งโร่ไปโพสต์ลง Social Media หรือเว็บบอร์ดชื่อดังเพื่อสร้างกระแส เราขอแนะนำให้คุณทำใจเย็นๆ หายใจเข้าออก และมาลองแก้ปัญหาด้วยวิธีทาง ‘กฏหมาย’ ในแบบที่ถูกที่ควรกันสักหน่อย เพราะหลายเรื่อง การแก้ปัญหานั้นก็ไม่ได้ยากเย็นอย่างที่คิดกันไว้ และมีกำกับในข้อกฏหมายเสียด้วย

-เสียงดังรบกวน: กฏหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1337 ครอบคลุมถึงกรณีเสียงดังเกินระดับ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งศาลสามารถสั่งตรวจสอบและระงับการกระทำดังกล่าว หรือจะแจ้งตำรวจให้เป็นคดีอาญาชั้นลหุโทษ ซึ่งมีค่าปรับ 100 บาท

Credits: caraccidenttodo.blogspot.com

-จอดรถขวางทางเข้าออก: ปัญหาน่าเหนื่อยใจของคนอยู่อาศัยอสังหาฯ แบบทาวน์เฮาส์ ถ้าคุยแล้วยังไม่รู้เรื่อง ยังไม่ดีขึ้น ‘มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถ (10) ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ หรือในระยะห้าเมตรจากปากทางเดินรถ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท’ สามารถช่วยท่านได้ รวมถึงให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่เพื่อสั่งให้เพื่อนบ้านมาขยับรถออกไป (ถ้ามันพูดกันรู้เรื่องยากนัก)

Credits: rpsg73.blogspot.com

-กิ่งไม้ล้ำเส้นอาณาเขตรั้วบ้าน: ต้นไม้สูงใหญ่ล้ำเข้ามาในอาณาเขต จะถือวิสาสะไปตัดก็ดูจะเป็นการประกาศจัดสงครามขนาดย่อมๆ กับเพื่อนบ้าน แต่ขอให้ใจเย็นๆ ชี้แจงไปก่อน เพราะ ‘ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 รับรองสิทธิ์ของเพื่อนบ้านให้ตัดแต่งกิ่งไม้ส่วนที่ยื่นล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของตนได้ เพียงแค่บอกกล่าวให้เจ้าของต้นไม้ทราบกำหนดเวลาอันสมควร เพื่อให้เจ้าของต้นไม้ดำเนินการตัดแต่ง’ แต่เมื่อบอกกล่าวไปแล้ว เพื่อนบ้านไม่สนใจ กฎหมายให้อำนาจเราดำเนินการได้ตามที่เห็นสมควร

ที่กล่าวไป เป็นเพียงบางส่วนของปัญหาข้อพิพาทระหว่างเพื่อนบ้านที่พบเจอได้บ่อยๆ ตามหน้ากระดานข่าวและ Social Media … เราเข้าใจว่าปัญหาบางอย่าง มันชวนให้ใช้ ‘กฏหมู่’ เข้าสู้เสียเหลือเกิน แต่การใช้ ‘กฏหมาย’ ก็น่าจะช่วยให้เรื่องจบได้โดยไม่กลายเป็นความบาดหมางทางอารมณ์ในการอยู่ร่วมกันในภายหลัง ซึ่งน่าจะเข้าท่ากว่าในระยะยาว